คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ความหลากชนิดและประชากรของหอยทากและทากในโรงเรือนปลูกพืช - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2554 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=4)
+--- เรื่อง: ความหลากชนิดและประชากรของหอยทากและทากในโรงเรือนปลูกพืช (/showthread.php?tid=289)



ความหลากชนิดและประชากรของหอยทากและทากในโรงเรือนปลูกพืช - doa - 11-18-2015

ความหลากชนิดและประชากรของหอยทากและทากในโรงเรือนปลูกพืช
ปราสาททอง พรหมเกิด, ปิยาณี หนูกาฬ, ดาราพร รินทะรักษ์, สมเกียรติ กล้าแข็ง และทรงทัพ แก้วตา
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การสำรวจชนิดและประชากร หอยและทากในโรงเรือนปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ได้แก่ กล้วยไม้ ดอกเบญจมาศ ดอกหน้าวัว โรงเรือนปลูกผัก ได้แก่ ผักชีฝรั่ง ผักกาด ผักคะน้า โรงเรือนเพาะชำกล้าไม้ ได้แก่ เพาะชำกล้าไม้ยืนต้นของกรมป่าไม้ เพาะชำกล้าไม้สำหรับขาย เพาะชำกล้าต้นหม่อน เพาะชำกล้าไม้ยางพารา และโรงเรือนส้มปลอดโรค พื้นที่จังหวัดต่างๆ ในภาคกลางและภาคเหนือของประเทศ ด้วยการใช้ตารางขนาด 1 ตารางเมตร สุ่มนับประมาณ 10 จุด/ไร่ ให้กระจายทั่วพื้นที่ อาจเดินสุ่มตามแนวเส้นทแยงมุมทั้งสองด้าน หรือแนวขนานกับพื้นที่ พร้อมทั้งเก็บหอยที่มีชีวิตอยู่มาเลี้ยงที่กลุ่มงานสัตววิทยาการเกษตรและเก็บรวบรวมเปลือกหอยมาทำความสะอาดเพื่อชั่งน้ำหนักและวัดขนาดแล้วเก็บไว้เป็นตัวอย่างใช้จำแนกชนิดของหอยพร้อมทั้งเก็บดินหรือวัสดุปลูกจากแปลงมาวัดความชื้นและความเป็นกรด - ด่าง และบันทึกสภาพแวดล้อมในโรงเรือน จากการสำรวจพบว่า หอยและทากหลายชนิดในโรงเรือนปลูกพืชต่างๆ จำแนกเป็นชนิด (ช่วงจำนวนประชากรหอยหรือทากเฉลี่ย) ได้แก่ ชนิดที่เป็นศัตรูพืชที่สำคัญ พบทากเล็บมือนาง Pamarion siammensis (0.1–2.9) หอยดักดาน Cryptozona siammensis (1.0-12.2) หอยสาลิกา Sarika sp. (1.0–4.3) หอยทากยักษ์แอฟริกา Achatina fulica (1.0–4.1) หอยเจดีย์เล็ก Lamellaxis gracilis (1.0–2.1) หอยเจดีย์ใหญ่ Prosopea walkeri (1.0) หอยแรบบิดินา Rhabidina sp. (4.2) และหอยซัคซิเนีย Succinea sp. (3.0-45.0) ชนิดที่กินซากพืชและสัตว์พบ ทากกล้วยตาก Semperula siamensis (0.1) ชนิดที่กินตระใคร่น้ำหรือมอสส์พบ หอยไซโคลโตพีส Cyclotopis sp. (3.5–9.2) หอยหอม Cyclophorus sp. (1.0) หอยหางดิ้น Durgella sp. (0.2) และชนิดที่เป็นผู้ล่าหอยพบ ทากซาราซิน Atopos sarasini (0.1) หอยเจดีย์เล็ก (1.0–2.1) เป็นต้น ดินมี pH 5.5-7.0 และมีความชื้น 52.74 - 85.29 % ซึ่งโรงเรือนบางแห่งพบหอยที่เป็นศัตรูพืชสูง ได้แก่ หอยดักดาน และหอยซัคซิเนีย มีจำนวนเฉลี่ย 12.2 และ 45.0 ตัวต่อตารางเมตร จะต้องทำการกำจัดงานสำรวจนี้ยังดำเนินการต่อปี 2555