วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของไดฟีโนโคนาโซล (difenoconazole) ในส้มเขียวหวาน - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2564 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=42) +--- เรื่อง: วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของไดฟีโนโคนาโซล (difenoconazole) ในส้มเขียวหวาน (/showthread.php?tid=2851) |
วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของไดฟีโนโคนาโซล (difenoconazole) ในส้มเขียวหวาน - doa - 10-27-2022 วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของไดฟีโนโคนาโซล (difenoconazole) ในส้มเขียวหวานเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง พรนภัส วิชานนะณานนท์, ประชาธิปัตย์ พงษ์ภิญโญ, พชร เมินหา, มติมล แสงสว่าง และศิริพันธ์ สมุทรศรี กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ไดฟีโนโคนาโซลเป็นสารป้องกันกำจัดเชื้อราในกลุ่ม triazole ประเภทดูดซึม ใช้ในการกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อราได้อย่างหลากหลายทั้งในไม้ผล ผัก ธัญพืช และอื่นๆ งานวิจัยนี้ ศึกษาการสลายตัวของสารป้องกันกำจัดเชื้อราไดฟีโนโคนาโซลในส้มภายใต้สภาพแวดล้อมและตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารพิษตกค้างไดฟีโนโคนาโซลโดยใช้การสกัดด้วยตัวดูดซับของแข็ง (วิธี QuEChERS, EN15662:2008) และเทคนิคไฮเพอร์ฟอร์แมนซ์ลิควิดโครมาโทกราฟี-แทนเดมแมสสเปกโทรเมทรี (LC-MS/MS) ในการทำแปลงทดลองสารพิษตกค้างเพื่อศึกษาการสลายตัวของสารป้องกันกำจัดเชื้อราไดฟีโนโคนาโซลในส้มเขียวนั้น มีทั้งหมด 5 แปลงทดลองในแหล่งเพาะปลูกส้มเขียวหวานของประเทศไทย โดยแต่ละแปลงทดลองแบ่งเป็น 2 แปลงย่อย ได้แก่ แปลงที่ไม่ใช้ไดฟีโนโคนาโซลซึ่งเป็นแปลงควบคุมและแปลงที่ใช้ไดฟีโนโคนาโซลตามคำแนะนำ (ไดฟีโนโคนาโซล 25% EC 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ในอัตราการใช้น้ำ 5 ลิตรต่อต้นส้ม) สุ่มเก็บตัวอย่างส้มที่ 0 3 5 7 10 14 21 และ 30 วันหลังพ่นสารครั้งสุดท้าย ตรวจวิเคราะห์พบปริมาณสารพิษตกค้างไดฟีโนโคนาโซลทุกตัวอย่างจากแปลงที่ใช้ไดฟีโนโคนาโซลของแปลงทดลองที่ 1 ถึง 5 โดยอยู่ในช่วง 0.21 ถึง 1.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และตรวจไม่พบปริมาณสารพิษตกค้างไดฟีโนโคนาโซลในตัวอย่างจากแปลงที่ไม่ใช้ไดฟีโนโคนาโซล นำข้อมูลสารพิษตกค้างที่ได้ไปพิจารณาเพื่อเสนอขอกำหนดระยะเวลาที่ปลอดภัยในการเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังการพ่นสารครั้งสุดท้าย (pre harvest interval หรือ PHI) ที่ 30 วัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเสนอขอกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง (maximum residue limits หรือ MRL) สำหรับประเทศไทย อาเซียน และ codex ต่อไป
คำหลัก: ไดฟีโนโคนาโซล ส้มเขียวหวาน สารพิษตกค้าง ระยะเวลาที่ปลอดภัยในการเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังการพ่นสารครั้งสุดท้าย ค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง |