ศึกษาสารออกฤทธิ์ในสารสกัดพืชที่มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อรา Cercospora kikuchii - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2564 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=42) +--- เรื่อง: ศึกษาสารออกฤทธิ์ในสารสกัดพืชที่มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อรา Cercospora kikuchii (/showthread.php?tid=2843) |
ศึกษาสารออกฤทธิ์ในสารสกัดพืชที่มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อรา Cercospora kikuchii - doa - 10-27-2022 ศึกษาสารออกฤทธิ์ในสารสกัดพืชที่มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อรา Cercospora kikuchii และสกัดสารกึ่งบริสุทธิ์เพื่อควบคุมคุณภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ณัฐพร ฉันทศักดา, สุมนา จำปา, พจนีย์ หน่อฝั้น, ศิริพร สอนท่าโก และศุภลักษ์ สัตยสมิทสถิต กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก การศึกษาสารออกฤทธิ์ในสารสกัดพืชที่มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อรา Cercospora kikuchii เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากสารสกัด และสกัดสารกึ่งบริสุทธิ์เพื่อควบคุมคุณภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปดำเนินการสกัดพืช 20 ชนิด ด้วยเอทานอล ทดสอบประสิทธิภาพสารสกัดหยาบในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Cercospora kikuchii บนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA พบว่าสารสกัดหยาบกานพลู และข่า สามารถยับยั้งได้ 100% เมื่อสกัดให้บริสุทธิ์ขึ้น นำไปทดสอบด้วยวิธี Contact bioautography พบว่าน้ำมันข่า และน้ำมันกานพลูมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อรา Cercospora kikuchii บนแผ่น TLC ที่ตำแหน่ง RF 0.17 - 0.42 ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวเป็นสารกลุ่ม terpenoids กานพลูจึงเป็นพืชที่เหมาะสมที่สุดในการยับยั้งเชื้อรา Cercospora kikuchii โดยมี eugenol เป็นสารออกฤทธิ์
จากการเปรียบเทียบวิธีสกัดน้ำมันกานพลูพบว่า วิธีการสกัดน้ำมันกานพลูที่ดีที่สุด คือ การกลั่นด้วยน้ำ (hydrodistillation) และจากการวิจัยผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากน้ำมันกานพลู จำนวน 3 สูตร ได้แก่ สูตร A น้ำมันกานพลู 20% w/w EC, สูตร B น้ำมันกานพลู 40% w/w EC และสูตร C น้ำมันกานพลู 60% w/w EC พบว่า สูตร B น้ำมันกานพลู 40% w/w EC ที่อัตรา 2 - 2.5 g/kg PDA สามารถยับยั้งการเจริญเจริญเติบโตของเชื้อรา Cercospora kikuchii บนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ได้ถึง 93.72% เช่นเดียวกับสูตร C (น้ำมันกานพลู 60% w/w EC) ที่อัตรา 1 - 2.5 g/kg PDA ซึ่งไม่แตกต่างจากคาร์เบนดาซิม ที่ความเข้มข้น 2.0 g/kg PDA
การแยกสารออกฤทธิ์ eugenol ในน้ำมันกานพลู โดยเครื่อง Flash chromatograph พบว่าการแยกด้วยตัวทำละลาย hexane และ 10% ethyl acetate/hexane ที่อัตราการไหล 35 mL/min ได้ eugenol อัตราส่วนมากกว่า 99% ใน fraction ที่ได้จากการแยก และจากทวนสอบวิธีวิเคราะห์ปริมาณ eugenol ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากน้ำมันกานพลู ด้วยเทคนิค HPTLC ของ Inam et al., 2014 โดยใช้แผ่น TLC ชนิด HPTLC plate silica gel 60F254 ขนาด 20x10 cm ที่ความยาวคลื่น 282 nm ใช้ toluene : ethyl acetate : acetic acid (9:1:0.12, v/v/v) เป็นวัฏภาคเคลื่อนที่ พบว่าช่วงของการวัด (Working range) และค่าความเป็นเส้นตรง (linearity) อยู่ในช่วงความเข้มข้น 200-800 mg/L มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient, r) เท่ากับ 0.9992 ให้ความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถวัดได้ (LOD) และความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถวิเคราะห์ได้ (LOQ) เท่ากับ 60 และ 200 mg/L ตามลำดับ จากการวิเคราะห์ปริมาณ eugenol ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากน้ำมันกานพลูสูตร B ที่ถูกพัฒนาขึ้นได้ พบสารสำคัญ eugenol เท่ากับ 36.87% W/W
คำหลัก: โรคเมล็ดสีม่วง เชื้อรา Cercospora kikuchii กานพลู ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป eugenol |