การศึกษาผลของการจัดการปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมในระบบการปลูกถั่วเขียวหลังนา - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2564 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=42) +--- เรื่อง: การศึกษาผลของการจัดการปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมในระบบการปลูกถั่วเขียวหลังนา (/showthread.php?tid=2831) |
การศึกษาผลของการจัดการปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมในระบบการปลูกถั่วเขียวหลังนา - doa - 10-26-2022 การศึกษาผลของการจัดการปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมในระบบการปลูกถั่วเขียวหลังนาต่ออัตราการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวในดินร่วนปนเหนียวถึงดินเหนียว จังหวัดชัยนาท จิตรา เกาะแก้ว, มนต์ชัย มนัสสิลา, กิจเมฆ แจ้งศิริกุล, อมรรัตน์ ใจยะเสน และวิลัยรัตน์ แป้นแก้ว กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ศึกษาผลของการจัดการปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมในระบบการปลูกถั่วเขียวหลังนาต่ออัตราการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวของดินร่วนปนเหนียวถึงดินเหนียวที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการปุ๋ยในระบบการปลูกถั่วเขียวหลังนา วางแผนการทดลองแบบ Split plot มี 4 ซ้ำ ปัจจัยหลัก คือ การจัดการปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมในระบบการปลูกถั่วหลังนา 3 กรรมวิธี ได้แก่ ไม่ใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 3-3-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ และใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 0-3-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ปัจจัยรอง คือ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าว 4 อัตรา ได้แก่ 0 6.5 13 และ26 กิโลกรัม N ต่อไร่
ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 0-3-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมมีผลให้จำนวนปม น้ำหนักสดปม น้ำหนักแห้งปม และค่าการตรึงไนโตรเจนของถั่วเขียวมีค่าสูงที่สุด อย่างไรก็ตามพบว่าผลผลิตเมล็ดและน้ำหนักผลผลิตต่อไร่ของถั่วเขียวที่ปลูกทั้ง 3 ปี ไม่มีความแตกต่างทางสถิติในทุกๆ กรรมวิธี การวิเคราะห์สมดุลธาตุไนโตรเจนหลังการปลูกถั่วเขียวและไถกลบเศษซากถั่วเขียวทั้ง 3 ปี พบว่ากรรมวิธีที่ไม่มีการใส่ปุ๋ยและกรรมวิธีการใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 0-3-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ทำให้ธาตุไนโตรเจนในพื้นที่มีค่าขาดดุลคิดเป็นเนื้อปุ๋ย 2.06 และ 2.03 กิโลกรัม N ต่อไร่ สมดุลของธาตุไนโตรเจนหลังการปลูกและไถกลบเศษซากข้าวพบว่า การปลูกข้าวโดยไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในพื้นที่ปลูกถั่วที่ไม่มีการใส่ปุ๋ยและพื้นที่ปลูกถั่วที่ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 0-3-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ทำให้ธาตุไนโตรเจนในพื้นที่มีค่าขาดดุลคิดเป็นเนื้อปุ๋ย 0.52 และ 0.69 กิโลกรัม N ต่อไร่ การวิเคราะห์อัตราส่วนระหว่างรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ปุ๋ยต่อรายจ่ายจากการใช้ปุ๋ย (VCR) พบว่าการปลูกถั่วเขียวทุกๆ กรรมวิธีให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน การปลูกข้าวเจ้าพันธุ์ กข 41 หลังจากการปลูกถั่วเขียว พบว่าการปลูกข้าวด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 6.5-0-0 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ในพื้นที่ปลูกถั่วเขียวที่มีการใส่ปุ๋ยให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนโดยให้ค่า VCR เท่ากับ 4.92 และ 3.95 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าการปลูกข้าวด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 13-0-0 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ในพื้นที่ปลูกถั่วเขียวที่มีการใส่ปุ๋ย 3-3-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนโดยให้ค่า VCR เท่ากับ 3.37
คำสำคัญ: ถั่วเขียว ปุ๋ยชีวภาพ ไรโซเบียม สมดุลไนโตรเจน |