การแยกและคัดเลือก Streptomyces sp. ที่ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในการควบคุมเชื้อรา - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2564 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=42) +--- เรื่อง: การแยกและคัดเลือก Streptomyces sp. ที่ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในการควบคุมเชื้อรา (/showthread.php?tid=2818) |
การแยกและคัดเลือก Streptomyces sp. ที่ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในการควบคุมเชื้อรา - doa - 10-12-2022 การแยกและคัดเลือก Streptomyces sp. ที่ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในการควบคุมเชื้อรา Ganoderma boninense สาเหตุโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน ธีระ ชูแก้ว, ยิ่งนิยม ริยาพันธ์, วรกร สิทธิพงษ์ และเทิดศักดิ์ สวัสดิ์สุข ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน โรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันจากเชื้อรา Ganoderma boninense เป็นโรคที่กำลังระบาดในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทางภาคใต้ของประเทศไทย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแยก คัดเลือก และศึกษาศักยภาพของสารสกัดหยาบจาก Streptomyces sp. ต่อการควบคุมเชื้อรา G. boninense ดำเนินการทดลองเดือนตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2564 โดยแยก Streptomyces sp. จากดินรอบลำต้นปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 21 ตัวอย่าง ได้ Streptomyces sp. จำนวน 167 ไอโซเลท คัดเลือกการเป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อรา G. boninense ด้วยวิธี dual culture พบว่า 4 ไอโซเลท (CW2 CW5 CW9 และ KS1) ยับยั้งร้อยละ 100.00 และไอโซเลท KS10 ยับยั้งร้อยละ 93.52 เมื่อทดสอบการยับยั้งโดยใช้ น้ำกรองเลี้ยงเชื้อพบว่า ไอโซเลท CW5 CW9 และ KS1 ให้การยับยั้งร้อยละ 100.00 ทั้งจากการทดสอบด้วย dual culture และการใช้น้ำกรองเลี้ยงเชื้อ การศึกษาลำดับเบสของยีน 16S rRNA พบว่าไอโซเลท CW5 CW9 และ KS1 จัดจำแนกเป็น S. morookaense ไอโซเลท CW2 คือ S. atratus และไอโซเลท KS10 คือ S. luteireticuli การทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบที่สกัดด้วย เอทิลอะซิเตทจาก S. morookaense CW5 ต่อการยับยั้งเชื้อรา G. boninense ด้วยวิธี poisoned food technique พบว่า ทุกระดับความเข้มข้น (0.01 - 100 mg/ml) สามารถยับยั้งเชื้อรา G. boninense ได้ร้อยละ 24.67 – 100.00 โดยความเข้มข้น 10 mg/ml ยับยั้งได้สูงสุดร้อยละ 100.00 และให้ผลการยับยั้งเทียบเท่ากับ hexaconazole ที่ความเข้มข้น 1 mg/ml จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า S. morookaense CW5 ที่คัดเลือกได้สามารถควบคุมเชื้อรา G. boninense อย่างมีประสิทธิภาพในระดับห้องปฏิบัติการและเป็นแนวทางนำไปพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์เพื่อใช้ในการควบคุมโรค ลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันต่อไปในอนาคต อีกทั้งงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยแรกที่มีการพัฒนาเชื้อ S. morookaense มาใช้ในการควบคุมโรคลำต้นเน่าของปาล์มน้ำมันที่เกิดจากเชื้อรา G. boninense
คำสำคัญ: เชื้อ Streptomyces sp. ปาล์มน้ำมัน โรคลำต้นเน่า การควบคุมทางชีวภาพ |