คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การเพิ่มศักยภาพการผลิตบัวบกคุณภาพเพื่อเป็นพืชสมุนไพรปลอดสารพิษ และโลหะหนัก - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2564 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=42)
+--- เรื่อง: การเพิ่มศักยภาพการผลิตบัวบกคุณภาพเพื่อเป็นพืชสมุนไพรปลอดสารพิษ และโลหะหนัก (/showthread.php?tid=2817)



การเพิ่มศักยภาพการผลิตบัวบกคุณภาพเพื่อเป็นพืชสมุนไพรปลอดสารพิษ และโลหะหนัก - doa - 10-12-2022

การเพิ่มศักยภาพการผลิตบัวบกคุณภาพเพื่อเป็นพืชสมุนไพรปลอดสารพิษ และโลหะหนัก
อุทัยวรรณ ทรัพย์แก้ว, พงษ์รวี นามวงศ์, เพ็ญจันทร์ สุทธานุกูล และไกรสิงห์ ชูดี
ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่

          บัวบก (Centella asiatica (Linn.) Urban) เป็นผักพื้นบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไป และเป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้ประโยชน์ทางด้านเภสัชวิทยาอย่างมาก แต่พบว่าปริมาณสารสำคัญ และผลผลิตไม่คงที่ เนื่องจากวัตถุดิบบัวบกมีความแปรปรวนจากฤดูกาลผลิต และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งพบสารพิษตกค้าง และโลหะหนักที่ไม่สามารถนำมาใช้เป็นสารสกัดมาตรฐานได้ จึงศึกษาการผลิตบัวบกในระบบโรงเรือนและการปลูกพืชไม่ใช้ดิน ภายใต้สภาพโรงเรือนแบบระบบกึ่งปิด เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตบัวบกให้มีคุณภาพสูง ปลอดจากสารพิษตกค้าง และโลหะหนัก โดยการเปรียบเทียบวัสดุปลูก และสูตรสารละลายธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อการผลิตบัวบกในระบบปลูกพืชที่ไม่ใช้ดิน วางแผนการทดลองแบบ split-plot จำนวน 4 ซ้ำ Main-plot ได้แก่ สูตรสารละลายธาตุอาหาร Enshi, Hoagland และสูตรการค้า A, B Sub-plot ได้แก่ วัสดุปลูกทรายหยาบ:ถ่านแกลบ อัตราส่วน 1:1 ทรายหยาบ:ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:1 ถ่านแกลบ:ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:1 เพอร์ไลท์ (Perlite): เวอร์มิคูไลท์ (Vermiculite) 2:1 ผลการทดสอบพบว่า กรรมวิธีสารละลายธาตุอาหารสูตรการค้า A, B ร่วมกับการปลูกในวัสดุปลูก ทรายหยาบ:ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:1 ส่งผลต่อเจริญเติบโตบัวบก ปริมาณผลผลิต และปริมาณสาร Asiaticoside และ Madecassoside ของบัวบกมีแนวโน้มสูงกรรมวิธีอื่นๆ แต่ไม่แตกต่างทางสถิติ การเปรียบเทียบเทคโนโลยีการผลิตบัวบกคุณภาพภายใต้สภาพโรงเรือนในระบบปลูกพืชไม่ใช้ดินกับเทคโนโลยีการผลิตของเกษตรกรพบว่า การผลิตบัวบกภายใต้สภาพโรงเรือนในระบบปลูกพืชไม่ใช้ดิน บัวบกมีการเจริญเติบโต ความยาวไหล ปริมาณผลผลิต และปริมาณสาร Asiaticoside และ Madecassoside สูงกว่ากรรมวิธีเทคโนโลยีการผลิตของเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญ และทั้งสองกรรมวิธีไม่พบสารพิษตกค้าง แต่เทคโนโลยีการผลิตของเกษตรกรพบปริมาณโลหะหนักเหล็กและตะกั่วเกินเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจระยะเวลา 5 ปี พบว่าทั้งสองเทคโนโลยีมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่เทคโนโลยีของเกษตรกรสามารถใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 1 ปี 5 เดือน เร็วกว่าเทคโนโลยีการผลิตบัวบกคุณภาพภายใต้สภาพโรงเรือนในระบบปลูกพืชไม่ใช้ดินที่ใช้ระยะเวลาคืนทุน 3 ปี 3 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกระแสเงินสดสุทธิพบว่า เทคโนโลยีการผลิตบัวบกคุณภาพภายใต้สภาพโรงเรือนในระบบปลูกพืชไม่ใช้ดินมีกระแสเงินสดสุทธิสูงกว่าการผลิตตามเทคโนโลยีของเกษตรกรมากกว่า 13 เท่า ในปีที่ 3

คำสำคัญ: บัวบก ระบบปลูกพืชที่ไม่ใช้ดิน สารละลายธาตุอาหารพืช ไกลโคไซด์