คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การบูรณาการผลิตมังคุดคุณภาพและปลอดภัยจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อการส่งออก - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2563 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=41)
+--- เรื่อง: การบูรณาการผลิตมังคุดคุณภาพและปลอดภัยจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อการส่งออก (/showthread.php?tid=2790)



การบูรณาการผลิตมังคุดคุณภาพและปลอดภัยจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อการส่งออก - doa - 10-06-2022

การบูรณาการผลิตมังคุดคุณภาพและปลอดภัยจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อการส่งออก
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7

          มังคุด เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2563 มีมูลค่าการส่งออกทั้งในรูปผลสดและแช่แข็ง จำนวน 292,147 ตัน มูลค่า 15,040 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ปลูกที่สำคัญอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ สำหรับพื้นที่ปลูกที่สำคัญในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากมีพื้นที่การผลิตมากที่สุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมีจำนวน 94,693 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 38 ของพื้นที่ภาคใต้ และผลผลิตมากที่สุดจำนวน 49,868 ตัน คิดเป็นร้อยละ 39 ของผลผลิตในพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2563) ซึ่งลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดนครศรีธรรมราชมีเทือกเขานครศรีธรรมราชพาดตามแนวยาวของคาบสมุทร ส่งผลให้พื้นที่ภายในจังหวัดได้รับอิทธิพลจากการกระจายตัวของฝนในพื้นที่แตกต่างกันทำให้มังคุดที่ปลูกในพื้นที่มีการให้ผลผลิตออกเป็น 2 ช่วง คือ 1.ผลผลิตในฤดูระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2.ผลผลิตนอกฤดูระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ในพื้นที่อำเภอชะอวด ลำนสกา พรหมคีรี เมือง ท่าศาลา ซึ่งผลผลิตที่ได้จะบริโภคภายในประเทศและส่งออกนอกประเทศ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

          แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีปริมาณพื้นที่และผลผลิตที่สูงที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ แต่ในส่วนของค่าเฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ในระดับประเทศในปี พ.ศ. 2562 และ 2563 พบว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช มีปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ คือ 592 และ 561 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการผลิตมังคุดทั้งประเทศ ที่มีค่าเฉลี่ย 827 และ 789 กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2563)

          จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระยะ 3 ปี กรมวิชาการเกษตรจึงเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมสู่ผู้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญหลายชนิด เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น การวิจัยและพัฒนาการผลิตมังคุดในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลผลิตของประเทศ ตลอดจนการพัฒนาการผลิตให้เข้าสู่มาตรฐานการผลิตการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) จึงเป็นการดำเนินงานแบบบูรณาการด้วยงานวิจัยและพัฒนา การขยายผลรวมทั้งการการยกระดับมาตรฐานคุณภาพ โดยประสานความร่วมมือกันทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและยกระดับการผลิตมังคุดคุณภาพในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช