คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การทดสอบประสิทธิภาพของแมลงช้างปีกใสในการควบคุมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2554 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=4)
+--- เรื่อง: การทดสอบประสิทธิภาพของแมลงช้างปีกใสในการควบคุมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว (/showthread.php?tid=279)



การทดสอบประสิทธิภาพของแมลงช้างปีกใสในการควบคุมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว - doa - 11-18-2015

การทดสอบประสิทธิภาพของแมลงช้างปีกใสในการควบคุมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว
ประภัสสร เชยคำแหง, รจนา ไวยเจริญ และอัมพร วิโนทัย
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การทดสอบประสิทธิภาพของแมลงช้างปีกใสในการควบคุมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว ดำเนินการทดลองในห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ ในปี 2554 ได้ดำเนินการสำรวจและเก็บรวบรวมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว จำนวน 6 ครั้ง ใน จังหวัดชลบุรี ระยอง สุพรรณบุรี ชัยนาท และจังหวัดนครราชสีมา พบการระบาดของแมลงหวี่ขาวใยเกลียวในมันสำปะหลัง มะละกอ พริก ถั่ว และพวกวัชพืชต่างๆ เป็นต้น พบแมลงศัตรูธรรมชาติ คือ แตนเบียน ด้วงเต่า และแมลงช้างปีกใส นำแมลงช้างปีกใสมาเลี้ยงเพื่อตรวจดูชนิดพบว่าเป็นชนิด Plesiochrysa ramburi นำแมลงหวี่ขาวใยเกลียวมาเพาะเลี้ยงบนต้นมันสำปะหลัง และต้นชบา เพื่อใช้ตัวอ่อนของแมลงหวี่ขาวใยเกลียว มาเป็นเหยื่ออาหารของแมลงช้างปีกใส โดยใช้ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส P. ramburi วัย 1 จำนวน 100 ตัว ให้แมลงหวี่ขาวใยเกลียวในระยะไข่เป็นอาหาร บันทึกข้อมูลประสิทธิภาพการกินตลอดช่วงเวลาที่เป็นระยะตัวอ่อนพบว่า ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส P. ramburi วัย 1 วัย 2 และวัย 3 สามารถกินไข่แมลงหวี่ขาวใยเกลียวได้ 36.80 104.10 และ 288.67 ฟองตามลำดับ ตลอดระยะตัวอ่อนทำลายไข่แมลงหวี่ขาวใยเกลียวได้ 429.57 ฟอง และในปี 2555 จะทดสอบประสิทธิภาพการกินตัวอ่อนแมลงหวี่ขาวใยเกลียว ของแมลงช้างปีกใสชนิดนี้ต่อไป