การใช้วัสดุอ้างอิงภายในเพื่อควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการยางแท่ง - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2563 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=41) +--- เรื่อง: การใช้วัสดุอ้างอิงภายในเพื่อควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการยางแท่ง (/showthread.php?tid=2788) |
การใช้วัสดุอ้างอิงภายในเพื่อควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการยางแท่ง - doa - 10-06-2022 การใช้วัสดุอ้างอิงภายในเพื่อควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการยางแท่ง (การทดสอบปริมาณสิ่งสกปรกและเถ้าในยางธรรมชาติ) ปฏิมาภรณ์ สังข์น้อย และ อิศยาณัท แก้วประดับ กองการยาง การให้การรับรองและให้ใบอนุญาตห้องปฏิบัติการยางแท่งเอสทีอาร์แก่ภาคเอกชนภายใต้การดาเนินงานของกองการยาง กรมวิชาการเกษตร มีขั้นตอนตั้งแต่การตรวจประเมินสถานที่ห้องปฏิบัติการ ความสามารถของบุคลากร ประสิทธิภาพของเครื่องมือทดสอบ และการทดสอบเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการยางแท่งของภาครัฐ จำนวน 4 แห่ง และห้องปฏิบัติการยางของบริษัทผู้ผลิตยางแท่งเอสทีอาร์ภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกองการยาง กรมวิชาการเกษตร จำนวน 82 แห่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีกำลังการผลิตยางแท่งโดยรวมในปี 2561 ประมาณ 1,729,396 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 82,692 ล้านบาท (กรมวิชาการเกษตร, 2016) โดยยางทั้งหมดจะต้องมีการทดสอบคุณภาพโดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อออกใบรายงานผลรับรองคุณภาพยางก่อนส่งออก ทั้งนี้เพื่อให้การควบคุมกำกับการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการยางแท่งเอสทีอาร์ของภาคเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ กองการยางจึงได้มีการตรวจสอบความสามารถของห้องปฏิบัติการยางแท่งเอสทีอาร์ของภาคเอกชนจากการตรวจติดตามและประเมินห้องปฏิบัติการยางแท่งอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และมีการทดสอบเปรียบเทียบผลระหว่างห้องปฏิบัติการยางแท่งของภาครัฐกับภาคเอกชน โดยกองการยางเตรียมตัวอย่างทดสอบเปรียบเทียบส่งให้ห้องปฏิบัติการยางแท่งเอสทีอาร์ของภาครัฐและภาคเอกชนทดสอบตามวันเวลาที่กำหนด แล้วนำผลการทดสอบมาประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตามห้องปฏิบัติการยางแท่งเอสทีอาร์ของกองการยางในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมกำกับก็ต้องรักษาประสิทธิภาพและความสามารถของห้องปฏิบัติการเป็นประจำด้วย ดังนั้น ห้องปฏิบัติการยางแท่งเอสทีอาร์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องมีเครื่องมือกำกับดูแลความสามารถของห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบ นั่นคือ การใช้วัสดุอ้างอิงซึ่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 (2017) หรือห้องปฏิบัติการทดสอบยางทั่วไป จำเป็นต้องใช้วัสดุอ้างอิงนี้ในกระบวนการควบคุมคุณภาพภายในเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการยางแท่งที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 (2017) ทั้งกรมวิทยาศาสตร์บริการและสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม รวมจำนวน 24 ห้องปฏิบัติการ ห้องปฏิบัติการดังกล่าวสามารถนำความรู้ที่ได้ไปผลิตตัวอย่างยางที่ใช้ควบคุมคุณภาพการทดสอบได้เอง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อและมั่นใจในคุณภาพการทดสอบมากขึ้น
|