คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
วิจัยและพัฒนาการอารักขาเบญจมาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2561 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=34)
+--- เรื่อง: วิจัยและพัฒนาการอารักขาเบญจมาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (/showthread.php?tid=2695)



วิจัยและพัฒนาการอารักขาเบญจมาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - doa - 06-04-2019

วิจัยและพัฒนาการอารักขาเบญจมาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พฤกษ์ คงสวัสดิ์

          เบญจมาศเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญ ปัจจุบันการปลูกเบญจมาศของไทยบนที่ราบเพิ่มขึ้นแต่ปัญหาเพลี้ยไฟเข้าทำลายดอกเบญจมาศรุนแรงขึ้น เกิดจากการอพยพของเพลี้ยไฟหลายชนิดระหว่างแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ประกอบกับเกษตรกรนิยมฉีดพ่นสารเคมีเพียงกลุ่มเดียวตลอดการผลิตทำให้ไม่สามารถควบคุมเพลี้ยไฟแต่กลับเพิ่มประชากรเพลี้ยไฟดื้อยามากขึ้นทุกปี เพื่อลดความเสียหายจากเพลี้ยไฟจำเป็นต้องหารูปแบบการระบาดของเพลี้ยไฟและรูปแบบการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟแบบสลับกลุ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสำรวจหาความสัมพันธ์ระหว่างชนิดเพลี้ยไฟ พันธุ์เบญจมาศและพืชเศรษฐกิจที่ปลูกใกล้เคียง วางกับดักกาวเหนียวอัตรา 80 กับดักต่อไร่ จำนวน 40 แปลง เก็บข้อมูลทุก 20 วัน (2559 - 2560) และเปรียบเทียบรูปแบบการใช้สารเคมีเพียงชนิดเดียวและสลับกลุ่ม (2559 - 2561) ทดลองในแปลงเบญจมาศที่มีประวัติการระบาดของเพลี้ยไฟ บ้านโนนผึ้ง และบ้านตาติด ตำบลโนนผึ้ง และตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พบว่าพบเพลี้ยไฟในเบญจมาศในจังหวัดอุบลราชธานีมากถึง 6 ชนิด โดยเป็นแบบอพยพชั่วคราวจากระหว่างแปลงเบญมาศ 2 ชนิด และ ระหว่างแปลงพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด การเข้าทำลายของเพลี้ยไฟจะรุนแรงมากช่วงก่อนเก็บเกี่ยวดอกเบญจมาศ 1 - 2 สัปดาห์ (ดอกเริ่มเห็นสี) โดยพบมากในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมสัมพันธ์กับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี อ้อย และมันสำปะหลัง ในปี 2561 พบเพลี้ยไฟสูงสุดเดือนมกราคม 761.30 ตัวต่อกับดัก และต่ำสุดเดือนมิถุนายน 148.0 ตัวต่อกับดัก และปี 2560 พบเพลี้ยไฟสูงสุดเดือนเดือนมกราคม 1,072.40 ตัวต่อกับดัก และต่ำสุดเดือนเมษายน 189.40 ตัวต่อกับดัก หากสามารถลดประชากรเพลี้ยไฟในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยวจะลดความเสียหายได้ การใช้สาร spinetoram (Exult12% SC) อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร เป็นวิธีควบคุมประชากรเพลี้ยไฟได้ดีที่สุด แต่ช่วงก่อนเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์ พบว่า สารเคมีทุกกรรมวิธีสามารถควบคุมปริมาณเพลี้ยไฟได้ไม่ต่างกัน และ สารกลุ่ม 1A (carbosulfan) จะมีผลข้างเคียงในเบญจมาศดอกสีขาวที่มีกลีบดอกบาง ควรหลีกเลียงฉีดพ่นในช่วงก่อนเก็บเกี่ยว 4 สัปดาห์จะลดความเสียหายได้

          การป้องกันความเสียหายจากเพลี้ยไฟที่ดีที่สุด คือ ควรเลี่ยงช่วงเก็บเกี่ยวเบญจมาศให้ไม่ตรงกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชเศรษฐกิจ การสลับกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟควรทำก่อนช่วงก่อนเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์