คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบแดง - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2560 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=33)
+--- เรื่อง: วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบแดง (/showthread.php?tid=2685)



วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบแดง - doa - 06-04-2019

วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบแดง
อรุณี ใจเถิง

          ศึกษาความต้องการธาตุอาหารและการจัดการปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตและปริมาณน้ำมันในเมล็ดกระเจี๊ยบแดง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการจัดการปุ๋ยของกระเจี๊ยบแดงเพิ่มผลผลิตและปริมาณน้ำมัน ดำเนินการทดลองตั้งแต่ตุลาคม 2558 ถึงกันยายน 2561 ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จ.เชียงราย แบ่งการทดลองออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในใบ กลีบเลี้ยง และเมล็ดกระเจี๊ยบแดงระยะเก็บเกี่ยว ขั้นตอนที่ 2 นำผลวิเคราะห์มาคำนวณปริมาณปุ๋ยที่จะใส่ให้กระเจี๊ยบแดงในแปลงทดลอง โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB 4 กรรมวิธี 5 ซ้ำ คือ กรรมวิธีที่ 1 ใส่ปุ๋ยผสมที่มีสัดส่วนของธาตุอาหาร N ในอัตราเท่ากับความต้องการธาตุอาหาร กรรมวิธีที่ 2 ใส่ปุ๋ยผสมที่มีสัดส่วนของธาตุอาหาร N ในอัตรามากกว่าความต้องการ 25% กรรมวิธีที่ 3 ใส่ปุ๋ยผสมที่มีสัดส่วนของธาตุอาหาร N ในอัตรามากกว่าความต้องการ 50% และกรรมวิธีที่ 4 ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ขั้นตอนที่ 3 นำกรรมวิธีที่ให้ผลดีที่สุดจากขั้นตอนที่ 2 มาปลูกทดสอบเปรียบเทียบกับวิธีของเกษตรกร จากผลการทดลองในปีที่ 1 (58/59) จากการนำส่วนของใบ กลีบเลี้ยง และเมล็ดของกระเจี๊ยบแดงพันธุ์ CR02 ไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหาร พบว่าเมล็ดของกระเจี๊ยบแดง มีธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสมากกว่าในส่วนของกลีบเลี้ยงและใบ แต่กลีบเลี้ยงและใบของกระเจี๊ยบแดง มีธาตุโพแทสเซียมมากกว่าในส่วนของเมล็ด จึงได้สัดส่วนธาตุอาหารที่กระเจี๊ยบแดงต้องการ คือ N : P2O5 : K2O 5 : 1 : 4 ขณะที่ในปีที่ 2 (59/60) พบว่าการใส่ปุ๋ยมีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของกระเจี๊ยบแดงดีกว่าการไม่ใส่ปุ๋ย โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่เพิ่มขึ้น 50% ต้นกระเจี๊ยบแดงมีการตอบสนองต่อปุ๋ยที่ใส่ได้ดีกว่ากรรมวิธีอื่นๆ โดยในฤดูปลูกแรกให้ผลผลิตมากที่สุด เท่ากับ 1,079.11 กิโลกรัม/ไร่ ฤดูปลูกที่ 2 ให้ผลผลิต 1,375.11 กิโลกรัมต่อไร่ และมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี และเมื่อนำเมล็ดกระเจี๊ยบแดงไปสกัดน้ำมัน พบว่าการใส่ปุ๋ยไม่มีผลต่อเปอร์เซ็นต์น้ำมันในเมล็ดกระเจี๊ยบแดง และจากการวิเคราะห์องค์ประกอบของกรดไขมันในน้ำมันเมล็ดกระเจี๊ยบแดงพบว่า น้ำมันในเมล็ดกระเจี๊ยบแดงประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวและกรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ omega 3,6,9 โดยมี omega 6 มากที่สุดในทุกกรรมวิธี ส่วนผลการทดลองปีที่ 3 (60/61) พบว่าการใส่ปุ๋ยผสมที่มีสัดส่วนของธาตุอาหาร N : P2O5 : K2O ในอัตราไนโตรเจนมากกว่าความต้องการ 50% โดยใส่ 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 อัตรา 33, 7.5 และ 21 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นกรรมวิธีที่ให้ผลผลิตและผลตอบแทนมากกว่าวิธีของเกษตรกรถึง 56,700 บาทต่อไร่ รวมทั้ง มีต้นทุนค่าปุ๋ยต่ำกว่าวิธีของเกษตรกร 1,346.50 บาทต่อไร่ หรือเกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยลงได้ 61%

          การทดลองผลของปริมาณการให้น้ำที่มีต่อผลผลิตเมล็ดกระเจี๊ยบแดงมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบปริมาณการให้น้ำที่เหมาะสมต่อผลผลิตเมล็ดกระเจี๊ยบแดงด้านปริมาณของเมล็ดและปริมาณน้ำมันในเมล็ดดำเนินการทดลองตั้งแต่ตุลาคม 2558 ถึงกันยายน 2561 แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ในขั้นตอนที่ 1 การหาช่วงวิกฤติน้ำของ กระเจี๊ยบแดง วางแผนการทดลองแบบ RCB 3 ซ้ำ 9 กรรมวิธี ประกอบด้วย ให้พืชขาดน้ำนาน 1 และ 2 สัปดาห์ ในระยะเริ่มแตกกิ่งก้านสาขา ระยะเจริญเติบโตเต็มที่ถึงเริ่มสร้างตาดอก ระยะดอกบานถึงระยะติดผลอ่อน ระยะพัฒนาผล และให้น้ำเต็มที่ตามความต้องการของพืชตลอดฤดูกาลปลูกถึงเก็บเกี่ยว พบว่าช่วงที่พืชขาดน้ำแล้วมีผลกระทบต่อผลผลิตมากที่สุดคือ การขาดน้ำนาน 2 สัปดาห์ในระยะดอกบานถึงระยะติดผลอ่อน ขั้นตอนที่ 2 ศึกษาผลของปริมาณการให้น้ำที่มีต่อผลผลิตเมล็ดกระเจี๊ยบแดงช่วงหลังจากพืชออกดอก วางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธี ดังนี้ ไม่ให้น้ำ ให้น้ำ 0.5 เท่า ให้น้ำ 1 เท่า ให้น้ำ 1.5 เท่า และให้น้ำ 2 เท่าของปริมาณความต้องการน้ำ พบว่าการให้น้ำ 0.5 เท่ามีน้ำหนักเมล็ดมากกว่ากรรมวิธีไม่ให้น้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และให้ปริมาณน้ำมันในเมล็ดสูงกว่า

          การศึกษาการสะสมน้ำมันในระยะต่างๆ ของเมล็ดกระเจี๊ยบแดงพันธุ์หนักและพันธุ์เบา ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ตั้งแต่ตุลาคม 2558 ถึงกันยายน 2561 เพื่อทราบอายุเก็บเกี่ยวเมล็ดกระเจี๊ยบแดงพันธุ์หนักและพันธุ์เบา วางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธี ซึ่งประกอบด้วย พันธุ์หนัก (CR03) อายุเก็บเกี่ยว 61, 68, 75, 82 และ 89 วันหลังดอกบาน และพันธุ์เบา (CR02) อายุเก็บเกี่ยว 45, 52, 59, 66 และ 73 วันหลังดอกบาน และวัดผลจากผลผลิตของกระเจี๊ยบแดง และเปอร์เซ็นต์น้ำมันในเมล็ดพบว่าพันธุ์หนัก (CR03) อายุเก็บเกี่ยว 89 วัน มีน้ำมันสูงสุด 23.89% รองลงมาคือ อายุเก็บเกี่ยว 82 วัน หลังดอกบาน มีน้ำมัน 22.51% แต่อายุเก็บเกี่ยว 75 วันหลังดอกบาน มีผลผลิตเมล็ดสูงทีสุด 600 กก./ไร่ และมีผลผลิตส่วนของกลีบเลี้ยง 480 กก./ไร่ ส่วนพันธุ์เบา (CR02) อายุเก็บเกี่ยว 73 วัน มีน้ำมันสูงสุด 21.45% รองลงมาคืออายุเก็บเกี่ยว 66 วัน มีน้ำมัน 21.37% โดยวิธีวิเคราะห์แบบ DMRT แต่ผลผลิตเมล็ดของพันธุ์พันธุ์เบาอายุ 59 วันหลังดอกบาน ให้ปริมาณน้ำมันต่อไร่สูงที่สุด เนื่องจาก มีผลผลิตเมล็ดสูงสุด 600 กก./ไร่ และเป็นระยะที่ให้ผลผลิตกลีบเลี้ยงสูง

          การทดสอบประสิทธิภาพของสารป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้าย ดำเนินงานในปี 2559 - 2561 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย วางแผนแบบ RCB 4 ซ้ำ 7 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีที่ 1 dinotefuran 10%WP อัตรา 30 มล./น้ำ 20 ลิตร กรรมวิธีที่ 2 fipronil 5% SC อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร กรรมวิธีที่ 3 imidacloprid 70% WG อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร กรรมวิธีที่ 4 dichlorvos 50% W/V EC อัตรา 60 มล./ต่อน้ำ 20 ลิตร กรรมวิธีที่ 5 carbosulfan 20% EC อัตรา 60 มล./น้ำ 20 ลิตร กรรมวิธีที่ 6 Thiamethoxam 25% WG อัตรา 1 กก./น้ำ 20 ลิตร กรรมวิธีที่ 7 น้ำหมักสะเดา (สำเร็จรูป) อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร และกรรมวิธีที่ 8 control (พ่นน้ำเปล่า) พบว่า การทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี พบจำนวนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายก่อนพ่นสารทดลอง 0.74 - 1.55 ตัว/ใบ หลังพ่นสาร 1 ครั้งพบว่ากรรมวิธีที่ใช้ fipronil พบเพลี้ยจักจั่นฝ้ายน้อยสุดคือ 0.29 ตัว/ใบ รองลงมาคือ dichlorvos thiamethoxam และ imidacloprid พบ 0.48, 0.49 และ 0.51 ตัว/ใบ ตามลำดับ ส่วนกรรมวิธีควบคุมพบ 1.15 ตัว/ใบ ส่วนการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย พบว่าก่อนการพ่นสารทดลองพบเพลี้ยจักจั่นฝ้าย 14.90 - 17.25 ตัว/ใบ หลังพ่นสารพบกรรมวิธีทีใช้ carbosulfan และ dichlorvos พบจำนวนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายน้อยที่สุดคือ พบเพลี้ยจักจั่นฝ้าย 6.00 และ 6.70 ตัว ตามลำดับ ส่วนกรรมวิธีควบคุมพบเพลี้ยจักจั่นฝ้าย 15.40 ตัว/ใบ