คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายกุหลาบพวงในแหล่งปลูกภาคกลาง - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2560 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=33)
+--- เรื่อง: ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายกุหลาบพวงในแหล่งปลูกภาคกลาง (/showthread.php?tid=2538)



ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายกุหลาบพวงในแหล่งปลูกภาคกลาง - doa - 01-17-2019

ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟพริก Scirtothrips dorsalis ที่ทำลายกุหลาบพวงในแหล่งปลูกภาคกลาง
สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น, ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา และธีราทัย บุญญะประภา
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การทราบข้อมูลความต้านทานของเพลี้ยไฟพริกในกุหลาบต่อสารฆ่าแมลงจะช่วยในการเลือกชนิดสารฆ่าแมลงหรือกลุ่มสารฆ่าแมลงที่เหมาะสม เพื่อที่จะนำมาใช้ในการวางแผนการใช้สารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียนวัตถุประสงค์ของงานทดลองนี้ก็เพื่อทราบความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดต่างๆ ในเพลี้ยไฟพริก Scirtothrips dorsalis ที่ทำลายกุหลาบพวงที่ปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทำการทดลองโดยให้เพลี้ยไฟดูดกินใบอ่อนและกลีบดอกกุหลาบที่ถูกชุบด้วยสารฆ่าแมลงชนิดต่างๆ ที่อัตราแนะนำและที่อัตราความเข้มข้น 2 เท่าของอัตราแนะนำ ผลการทดลองพบว่า ในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายกุหลาบจาก อ. เมืองนครปฐม จ.นครปฐม สารฆ่าแมลงที่เพลี้ยไฟมีความต้านทานสูงมาก คือ สาร imidacloprid, carbosulfan, tolfenpyrad และ lambda cyhalothrin สารฆ่าแมลงที่มีความเป็นพิษสูงในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายกุหลาบจาก อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม และสามารถใช้ในแผนการใช้สารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียนได้คือ สาร emamectin benzoate, spinetoram และ fipronil ส่วนในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายกุหลาบจาก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม สารฆ่าแมลงที่เพลี้ยไฟมีความต้านทานสูงมาก คือ สาร imidacloprid, abamectin, tolfenpyrad และ lambda cyhalothrin สารฆ่าแมลงที่มีความเป็นพิษสูงในเพลี้ยไฟพริกที่ทำลายกุหลาบจาก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และสามารถใช้ในแผนการใช้สารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียนได้ คือ สาร spinetoram