คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การทดสอบประสิทธิภาพของแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลของกล้วยไม้ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2560 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=33)
+--- เรื่อง: การทดสอบประสิทธิภาพของแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลของกล้วยไม้ (/showthread.php?tid=2524)



การทดสอบประสิทธิภาพของแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลของกล้วยไม้ - doa - 01-15-2019

การทดสอบประสิทธิภาพของแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลของกล้วยไม้สาเหตุจากแบคทีเรีย Burkholderia gladioli pv. gladioli
ทิพวรรณ กันหาญาติ, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล, บูรณี พั่ววงษ์แพทย์ และรุ่งนภา ทองเคร็ง
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ทดสอบประสิทธิภาพของเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลของกล้วยไม้สาเหตุจากแบคทีเรีย Burkholderia gladioli pv. gladioli ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 – กันยายน 2560 โดยน้ำเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลของกล้วยไม้ในสภาพเรือนทดลองมาทดสอบในสภาพแปลง โดยเริ่มพ่นเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์หลังจากกล้วยไม้เริ่มแสดงอาการของโรค พ่นทุก 7 วัน จำนวน 5 ครั้ง พบว่ากรรมวิธีพ่นเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ BS5 BS23 และ BS40 สามารถควบคุมเชื้อ B. gladioli pv. gladioli สาเหตุโรคเน่าสีน้ำตาลของกล้วยไม้ได้ดี มีระดับความรุนแรงของโรคแตกต่างจากกรรมวิธีพ่นด้วยน้ำเปล่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้ประสิทธิภาพของเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ BS5 BS23 และ BS40 ที่คัดเลือกได้สามารถควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลของกล้วยไม้ที่มีเปอร์เซ็นต์ความรุนแรงของโรคประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่สามารถควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลของกล้วยไม้ที่มีเปอร์เซ็นต์ความรุนแรงของโรคมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นแนวทางการศึกษาการใช้เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลของกล้วยไม้ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นต่อไป คือ พ่นเพื่อป้องกันการเกิดโรคหรือใช้เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์หลายไอโซเลทร่วมกัน