ศักยภาพของถั่วบราซิลคลุมดินเพื่อควบคุมวัชพืชในสับปะรด - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2560 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=33) +--- เรื่อง: ศักยภาพของถั่วบราซิลคลุมดินเพื่อควบคุมวัชพืชในสับปะรด (/showthread.php?tid=2510) |
ศักยภาพของถั่วบราซิลคลุมดินเพื่อควบคุมวัชพืชในสับปะรด - doa - 12-17-2018 ศักยภาพของถั่วบราซิล (pinto peanut, Arachis pintoi Krapov. & W.C. Greg.) คลุมดินเพื่อควบคุมวัชพืชในสับปะรด ภัทร์พิชชา รุจิระพงศ์ชัย, คมสัน นครศรี, อัณศยา สุริยะวงศ์ตระการ และอมฤต ศิริอุดม สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช การศึกษาศักยภาพของถั่วบราซิล (pinto peanut, Arachis pintoi Krapov. & W.C. Greg.) คลุมดินเพื่อควบคุมวัชพืชในสับปะรด โดยศึกษาการเจริญเติบโตของถั่วบราซิลจากกิ่งปักชำ ที่มีประมาณอายุ 1 เดือนหลังปักชำ วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 7 กรรมวิธี 3 ซ้ำ ประกอบด้วยจำนวนต้นถั่วบราซิล 2, 3, 4, 5, 6 ต้นต่อตารางเมตร เปรียบเทียบกับกรรมวิธีกำจัดวัชพืชด้วยมือ และกรรมวิธีไม่กำจัดวัชพืช พบว่า ในระยะ 1 เดือนหลังปลูก ถั่วบราซิล มีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า และสามารถเจริญเติบโตได้ดีขึ้น แตกกิ่งแขนงในระยะ 2 เดือนหลังปลูก และที่ระยะ 3 - 4 เดือนหลังปลูก ถั่วบราซิล สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในกรรมวิธีที่มีจำนวนต้นถั่วบราซิล 5 และ 6 ต้นต่อตารางเมตร เจริญเติบโตได้ดี มีเปอร์เซ็นต์การคลุมพื้นที่ประมาณ 83 และ 93 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และสามารถแข่งขันกับหญ้าดอกขาว หญ้าตีนนก หญ้าตีนติด ผักเบี้ยหิน และผักโขมหิน ได้ดี สามารถลดจำนวนต้นและน้ำหนักแห้งของวัชพืชดังกล่าวแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีปลูกถั่วบราซิล 2, 3, 4 ต้นต่อตารางเมตร และกรรมวิธีไม่กำจัดวัชพืช
|