คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ออกแบบ และพัฒนาไถระเบิดดินดานชนิดสั่นที่ขา 2 ขาแบบมีชุดควบคุมความถี่ในการสั่น - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2559 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=32)
+--- เรื่อง: ออกแบบ และพัฒนาไถระเบิดดินดานชนิดสั่นที่ขา 2 ขาแบบมีชุดควบคุมความถี่ในการสั่น (/showthread.php?tid=2418)



ออกแบบ และพัฒนาไถระเบิดดินดานชนิดสั่นที่ขา 2 ขาแบบมีชุดควบคุมความถี่ในการสั่น - doa - 09-13-2018

ออกแบบ และพัฒนาไถระเบิดดินดานชนิดสั่นที่ขา 2 ขาแบบมีชุดควบคุมความถี่ในการสั่น
ตฤณสิษฐ์ ไกรสินบุรศักดิ์, ดนัย ศาลทูลพิทักษ์, อนุชา เชาว์โชติ, มงคล ตุ่นเฮ้า, พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์, พีรพงษ์ เชาวพงษ์, อนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์ และจิระวีณ์ มหิทธิธนาศักดิ์
ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น, ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรมจันทบุรี, กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

          ไถระเบิดดินดานชนิดสั่นที่ขา 2 ขาแบบมีชุดควบคุมความถี่ในการสั่นในงานวิจัยนี้ ออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้การสั่นของไถดินดานคงที่ตลอดการไถ ส่งผลให้ไถดินดานมีสมรรถนะการทำงานสูงสุด และเปลี่ยนระบบถ่ายทอดกำลังทางกลเป็นระบบถ่ายทอดกำลังอุทกสถิต เพื่อลดการสั่นสะเทือนที่ส่งผลต่อคนขับ ชุดถ่ายทอดกำลัง และความคงทนของอุปกรณ์ในรถแทรกเตอร์ การควบคุมความถี่ในการสั่นใช้ตัวควบคุมแบบฟัซซี มีลักษณะการทำงานโดยการป้อนความถี่ที่ต้องการควบคุมผ่านตัวควบคุมแบบฟัซซี ตัวควบคุมแบบฟัซซีจะไปเปิดวาล์วควบคุมอัตราการไหลให้น้ำมันไฮดรอลิกไปขับมอเตอร์ ไฮดรอลิกซึ่งต่ออยู่กับชุดสั่นสะเทือนของไถระเบิดดินดานทำให้เกิดการสั่นขึ้น โดยใช้สัญญาณป้อนกลับเป็นอุปกรณ์วัด และประมวลผลเป็นความถี่ที่ติดตั้งไว้ ทำการทดสอบในพื้นที่ดินร่วนเหนียวปนทราย ความชื้นดินเฉลี่ย 20.60%db ความหนาแน่นดินสภาวะแห้งเฉลี่ย 1.66 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร และค่าความต้านทานการแทงทะลุของดินเฉลี่ย 2.58 เมกกะปาสคาล ที่ความถี่ในการสั่น 4 ระดับ คือ 0 7 9 และ 11 เฮิรตซ์ ความเร็วในการเคลื่อนที่ 2.09 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความลึกในการไถ 30 เซนติเมตร โดยมีความกว้างในการสั่นที่ปลายขาไถคงที่ 36.5 มิลลิเมตร พบว่าความถี่ในการสั่น 9 เฮิรตซ์ เป็นความถี่ที่เหมาะสม และมีสมรรถนะการทำงานสูงสุดสำหรับไถระเบิดดินดาน นอกจากนี้สามารถลดการสั่นสะเทือนต่อคนขับลงได้ 31.74 - 33.95% ที่ความถี่ในการสั่น ความลึกในการไถ และความเร็วในการเคลื่อนที่เดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับไถระเบิดดินดานชนิดสั่นที่ขา 2 ขา แบบใช้ระบบถ่ายทอดกำลังทางกล ส่วนผลการควบคุมพบว่า การสั่นของขาไถเริ่มสั่นจาก 0 Hz จนถึง 9 เฮิรตซ์ ใช้ช่วงเวลา Response Time เท่ากับ 14 มิลลิวินาที ช่วงเวลา Delay Time เท่ากับ 6 มิลลิวินาที ช่วงเวลา Rise Time เท่ากับ 11 มิลลิวินาที และช่วงเวลา Setting Time เท่ากับ 13 มิลลิวินาที ไม่เกิดค่าพุ่งเกิน ความถี่ในการสั่น 9 - 9.05 เฮิรตซ์ ตลอดการไถ