คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การใช้และการตรวจสอบการตกค้างของสารอีทีฟอนต่อทุเรียนสดในโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออก - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2559 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=32)
+--- เรื่อง: การใช้และการตรวจสอบการตกค้างของสารอีทีฟอนต่อทุเรียนสดในโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออก (/showthread.php?tid=2395)



การใช้และการตรวจสอบการตกค้างของสารอีทีฟอนต่อทุเรียนสดในโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออก - doa - 09-11-2018

การใช้และการตรวจสอบการตกค้างของสารอีทีฟอนต่อทุเรียนสดในโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออก
เกรียงไกร สุภโตษะ, วีรยุทธ สุทธิรักษ์, ศิรกานต์ ศรีธัญรัตน์ และทรรศน์สรัล รัตนทัศนีย์
กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร

          เก็บเกี่ยวผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีอายุผล 95, 100, 104, 111 และ 118 วัน หลังดอกบาน จากสวนของเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559 – เดือนเมษายน 2560 นำมาบ่ม 6 กรรมวิธี คือ 1) ชุดควบคุม (ไม่ใช้สารอีทีฟอน) 2) ป้ายขั้วด้วยสารอีทีฟอนความเข้มข้น 26 เปอร์เซ็นต์ 3) ป้ายขั้วด้วยสารอีทีฟอนความเข้มข้น 52 เปอร์เซ็นต์ 4) จุ่มผลในสารอีทีฟอนความเข้มข้น 0.05 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับป้ายขั้วด้วยสารอีทีฟอนความเข้มข้น 26 เปอร์เซ็นต์ 5) จุ่มผลในสารอีทีฟอนความเข้มข้น 0.10 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับป้ายขั้วด้วยสารอีทีฟอนความเข้มข้น 26 เปอร์เซ็นต์ และ 6) จุ่มผลในสารอีทีฟอนความเข้มข้น 0.20 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับป้ายขั้วด้วยสารอีทีฟอนความเข้มข้น 26 เปอร์เซ็นต์ เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15±1 องศาเซลเซียส วิเคราะห์ปริมาณสารอีทีฟอนตกค้าง (เนื้อรวมเปลือก) และการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผลทุเรียน หลังจากเก็บรักษาเป็นเวลา 0 6 8 และ 10 วัน พบว่า ผลทุเรียนอายุเก็บเกี่ยว 95 100 104 111 และ 118 วัน ของกรรมวิธีที่ 6 มีสารอีทีฟอนตกค้างเท่ากับ 2.48 – 7.78, 2.43 – 5.86, 3.22 – 4.19, 2.00 – 3.92 และ 3.40 – 6.43 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ สูงกว่ากรรมวิธีอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ และสูงกว่าค่าปริมาณสูงสุดที่สามารถพบได้ตามข้อกำหนดของฮ่องกงและประเทศไทย (ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ในขณะที่ผลทุเรียนทุกอายุเก็บเกี่ยวของกรรมวิธีที่ 2 3 4 และ 5 มีสารอีทีฟอนตกค้าง ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา พิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผลทุเรียนพบว่า ผลทุเรียนอายุเก็บเกี่ยว 95 วัน ของทุกกรรมวิธี ไม่มีการสุก ผลทุเรียนอายุเก็บเกี่ยว 100 และ 104 วัน ของกรรมวิธีที่ 3 5 และ 6 มีการสุก ในวันที่ 10 ของการเก็บรักษา และผลทุเรียนอายุเก็บเกี่ยว 111 และ 118 วัน ของกรรมวิธีที่ 2 3 4 5 และ 6 มีการสุก ในวันที่ 8 และ 10 ของการเก็บรักษา และเมื่อพิจารณาผลทดสอบความชอบโดยรวมของเนื้อทุเรียนสุกด้วยวิธีการให้คะแนนตามสเกลความชอบ 9 ระดับคะแนน ด้วยผู้ทดสอบที่ผ่านการฝึกฝน จำนวน 15 คน พบว่าผลทุเรียนอายุเก็บเกี่ยว 100 วัน มีคะแนนในระดับไม่ชอบปานกลาง ผลทุเรียนอายุเก็บเกี่ยว 104 วัน มีคะแนนในระดับไม่ชอบเล็กน้อย และผลทุเรียนอายุเก็บเกี่ยว 111 และ 118 วัน มีคะแนนในระดับชอบปานกลาง ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่เก็บเกี่ยวเพื่อการจำหน่ายต้องมีอายุผลหลังดอกบานอย่างน้อย 111 วัน วิธีการใช้และอัตราการใช้สารอีทีฟอนที่ใช้ได้กับผลทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยวและมีการตกค้างไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม คือ ป้ายขั้วด้วยสารอีทีฟอนความเข้มข้น 26 – 52 เปอร์เซ็นต์ หรือจุ่มผลในสารอีทีฟอนความเข้มข้น 0.05 – 0.10 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับป้ายขั้วด้วยสารอีทีฟอนความเข้มข้น 26 เปอร์เซ็นต์ ผลทุเรียนจะสุก หลังจากเก็บรักษาที่อุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 8 – 10 วัน ซึ่งเป็นสภาวะของการขนส่งผลทุเรียนสดทางเรือไปยังประเทศปลายทาง