คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตพืชไร่และพืชทดแทนพลังงา - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2559 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=32)
+--- เรื่อง: การศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตพืชไร่และพืชทดแทนพลังงา (/showthread.php?tid=2382)



การศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตพืชไร่และพืชทดแทนพลังงา - doa - 09-11-2018

การศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน
พรพรรณ สุทธิแย้ม

          โครงการวิจัยทำขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ส่วนใหญ่พบว่าพืชให้ผลผลิตลดลง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป คือ อุณหภูมิที่สูงขึ้น ความแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะในฤดูฝน ฝนที่ตกมากเกินไปในช่วงที่พืชไม่ต้องการ การเริ่มต้น และการสิ้นสุดของฤดูฝนมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ส่งผลให้ฤดูปลูกและพื้นที่ปลูกพืชไร่เปลี่ยนไปจากเดิม ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องนับวันจะรุนแรงมากขึ้น คาดการณ์ได้ยากขึ้น จึงทำการศึกษาการตอบสนองของพืชไร่ในสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และในสภาพไร่เกษตรกร ด้านเทคโนโลยีการผลิต การระบาด และการจัดการศัตรูพืช (แมลงศัตรู โรคพืช และวัชพืช) คุณภาพผลผลิต การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง การประเมินวัฏจักรชีวิตเพื่อศึกษาผลกระทบจากการปลูกพืชต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และศึกษาหาเทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยในการปรับตัว รวมทั้งบรรเทาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้มีเป้าหมายว่าจะได้ข้อมูลเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาปรับเทคโนโลยีการผลิตพืชไร่ให้เหมาะสม วิธีการดำเนินการประกอบด้วยการสำรวจ เก็บตัวอย่าง สัมภาษณ์เกษตรกรในไร่นาที่เป็นเขตปลูกพืชไร่เศรษฐกิจสำคัญ ให้ได้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตพืชของเกษตรกร ศัตรูพืช สภาพภูมิอากาศ (ทั้งข้อมูลมือหนึ่ง และข้อมูลมือสอง) นำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ และแนวทางแก้ปัญหา ในกิจกรรมวิจัยที่ 1 ซึ่งศึกษาในถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน และงา ส่วนกิจกรรมที่ 2 เป็นการหาวิธีการปรับตัวของการปลูกพืชต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำในศูนย์วิจัย ได้แก่ การศึกษาช่วงปลูกที่เหมาะสม และการทนต่อการขาดน้ำของข้าวโพดหวาน และงา และการระบาดของโรคมันสำปะหลังช่วงต่างๆ ของปี และในกิจกรรมที่ 3 เป็นการศึกษาการใช้ดินขาวเกาลิน ซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติ พ่นบนต้นมันสำปะหลัง เพื่อการป้องกันโรคและแมลงศัตรู รวมทั้งความเป็นไปได้ในการเพิ่มผลผลิต ผลการศึกษาพบว่า การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตของเกษตรกร ได้แก่ ช่วงปลูกในฤดูฝนของถั่วเขียว จะปลูกก่อนเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่ปลูกก่อน เพื่อใช้ความชื้นในดิน หลังการปลูกจะทำการคราดกลบเมล็ดที่หยอดไว้เพื่อรักษาความชื้น ซึ่งเป็นวิธีการที่เกษตรกรไม่ได้ทำมาก่อน การปลูกงาในสภาพก่อนนาจะปลูกในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเคยมีฝนหล่อเลี้ยงพอให้โตได้ แต่ปัจจุบันมักไม่มีฝนตกทำให้เมล็ดงาที่ปลูกไม่งอก พื้นที่ปลูกงาจึงลดลง หรือในบางเขตปลูก เช่น ภาคกลาง เลื่อนการปลูกออกไปเป็นเดือนมีนาคม แมลงศัตรูมีการระบาดมากขึ้นในช่วงที่แล้งหรือฝนทิ้งช่วง ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีกำจัดหลายชนิด และบ่อยครั้งขึ้น หรือเข้มข้นขึ้น แมลงศัตรูที่พบระบาด มีทั้งที่เป็นแมลงศัตรูหลัก (key pests) ของพืชนั้นๆ และไม่ใช่แมลงศัตรูหลัก เช่นในถั่วเหลือง พบการทำลายของแมลงหวี่ขาว (เป็น key pests) หนอนกระทู้ผัก และหนอนม้วนใบ ในช่วงอากาศแห้งแล้ง ทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง ซึ่งอาจทำให้มีคำแนะนำการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น แมลงศัตรูบางชนิดเคยทำลายที่ระยะกล้าระยะเดียว แต่ปัจจุบันตรวจพบการทำลายในระยะติดดอกด้วย เช่น หนอนแมลงวันเจาะลำต้นในถั่วเหลือง ด้านโรคพืชพบว่า สภาพภูมิอากาศบางช่วงมีความเหมาะสมกับการเป็นโรคสำคัญในระดับเกษตรกร โดยพบเป็นหลายโรค เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในช่วงฝนตกหนักติดต่อกัน พบโรคใบจุด โรคจุดสีน้ำตาล โรคกาบและใบไหม้อย่างรุนแรง แต่ในช่วงที่มีอุณหภูมิสูง โรคสำคัญเช่น โรคราสนิม และโรคใบไหม้แผลใหญ่จะพบระบาดน้อย แม้จะไม่กระทบกระเทือนผลผลิตข้าวโพดมากนัก การศึกษานี้จะช่วยให้นักวิจัยสามารถปรับการป้องกันโรคได้โดยการใช้และผลิตพันธุ์ต้านทานโรคต่างๆ ให้ดีขึ้น ในพืชงาพบว่า มีการระบาดของโรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา Curvularia sp. ซึ่งไม่เคยเข้าทำลายงามาก่อน โดยพบใน Figure มีอุณหภูมิระหว่าง 23 – 37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ 73 - 89% ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนการระบาดของวัชพืชในพืชไร่ ยังไม่เห็นชัดว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือไม่ พบการระบาดของวัชพืชใบแคบ ใบกว้าง และกก มากน้อยตามสภาพพื้นที่ ความชื้นดินในฤดูปลูก และการป้องกันกำจัดในระยะสำคัญของเกษตรกร แต่ถ้าแยกเป็นวัชพืชประเภท C3 และ C4 พบว่าประเภท C4 พบมากกว่า (ในสภาพความเข้มข้นของ CO2 สูงขึ้น พืช C4 จะเจริญเติบโตได้ดีกว่าพืช C3) สำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในการปลูกพืชไร่พบว่า ช่วงปลูกที่เหมาะสมสำหรับข้าวโพดหวานในฤดูแล้ง คือ กลางเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ หากข้าวโพดหวานขาดน้ำในช่วงอายุ 14 - 35 วัน การใส่ปุ๋ย N หรือ N+P เมื่ออายุ 37 วันหลังงอกซึ่งเป็นระยะฟื้นตัว จะให้ผลผลิตได้คุ้มค่ากับการลงทุน ช่วงปลูกงาฤดูแล้งที่เหมาะสม อยู่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนมีนาคม (ผลผลิต 94 - 103 กก./ไร่) ส่วนฤดูฝน ปลูกงาช่วงกลางเดือนเมษายนให้ผลผลิตสูงสุด 69 กก./ไร่ ปลายฤดูฝนมีความเสี่ยงเพราะให้ผลผลิตต่ำ และไม่อาจคาดการณ์ได้ ฝนมักจะทิ้งช่วง สำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์งา ในฤดูแล้งควรปลูกช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูฝน ควรปลูกช่วงกลางเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคม การใช้ดินขาวเกาลินพ่นต้นมันสำปะหลังในอัตรา 20 40 60 และ 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกเดือน เป็นเวลา 6 เดือน ไม่มีผลต่อการควบคุมโรค แมลงศัตรู แต่มีแนวโน้มเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของมันสำปะหลัง โดยเฉพาะในพันธุ์ระยอง 5 ที่พิษณุโลก และสุโขทัย ส่วนในพันธุ์ระยอง 9 เห็นผลไม่ชัดเจน