คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์ว่านเพชรกลับ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2557 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=7)
+--- เรื่อง: การรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์ว่านเพชรกลับ (/showthread.php?tid=2303)



การรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์ว่านเพชรกลับ - doa - 03-07-2017

การรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์ว่านเพชรกลับ
พรรณผกา รัตนโกศล, สุระพงษ์ รัตนโกศล, อรนุช เกตุประเสริฐ, สุภาภรณ์ สาชาติ และสุทธินี เจริญคิด
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน, สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ, สถาบันวิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่

          ว่านเพชรกลับ (Boesenbergia cf. thorelii (Gagnep.) Hoes) เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ซึ่งหายากและใกล้สูญพันธุ์มีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคเช่นพอกสมานแผลสด ใช้ดองกับเหล้าขาวดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ ขับปัสสาวะและสามารถรักษาโรคไตได้ ปกติผลผลิตจะมาจากการหาของป่า ดังนั้นจึงควรศึกษาศักยภาพ/ความเป็นไปได้ในการผลิตและพัฒนาเป็นเชิงการค้า และเพื่อคัดเลือกหาสายพันธุ์ว่านเพชรกลับ เพื่อการใช้ประโยชน์ในทางยาเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สูงยิ่งขึ้น สำหรับเผยแพร่และส่งเสริมเกษตรกรปลูกเป็นการค้า และยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสมุนไพรไทยไม่ให้สูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน สวพ.1 และ ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย สถาบันวิจัยพืชสวน จึงได้ดำเนินการรวบรวมคัดเลือกพันธุ์และเปรียบเทียบพันธุ์ว่านเพชรกลับ ระหว่างปี 2555 - 2557 สามารถรวบรวมพันธุ์ว่านเพชรกลับจากแหล่งต่างๆ ได้ทั้งหมด 11 ตัวอย่าง 5แหล่ง คือ จังหวัด หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร สกลนคร อุบลราชธานีและ จาก ชายแดน ไทย-ลาว ด้านเมืองเวียงจันท์ ทำการปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์ว่านเพชรกลับ ปี 2555 - 2556 พบว่าสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ สายพันธุ์ BK-Pt#2 จากวัดภูทอก (วัดเจติยาคิรีวิหาร) ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ สายพันธุ์ PL-Nt#1 จากแปลงเกษตรกรชาวเขา อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และสายพันธุ์ SN-Ma#1 จากอ.เมือง จ.สกลนคร ให้ผลผลิต17.37 15.26 และ 14.37 กิโลกรัมต่อ 72 ตารางเมตร ตามลำดับ สายพันธุ์เหล่านี้ได้นำไปทำการเปรียบเทียบพันธุ์ว่านเพชรกลับ โดยวางแผนการทดลอง แบบ RCB 3 กรรมวิธี 6 ซ้ำ พบว่าให้ผลผลิตไปในทำนองเดียวกัน คือ สายพันธุ์ BK-Pt#2 ได้ผลผลิตสูงที่สุด 16.07 กิโลกรัมต่อ 72 ตารางเมตร รองลงมา คือ สายพันธุ์ PL-Nt#1 12.74 กิโลกรัมต่อ 72 ตารางเมตร และสายพันธุ์ SN-Ma#1 ได้ผลผลิต 12.25 กิโลกรัมต่อ 72 ตารางเมตร โดยมีความแตกต่างทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 (CV = 11.9%, LSD(1%) = 2.96, และ F-Test = 11.14**)