การคัดเลือกและเปรียบเทียบพันธุ์อัญชัน - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2557 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=7) +--- เรื่อง: การคัดเลือกและเปรียบเทียบพันธุ์อัญชัน (/showthread.php?tid=2301) |
การคัดเลือกและเปรียบเทียบพันธุ์อัญชัน - doa - 03-07-2017 การคัดเลือกและเปรียบเทียบพันธุ์อัญชัน จรัญ ดิษฐไชยวงศ์, มัลลิกา รักษ์ธรรม, สุภาภรณ์ สาชาติ และเสงี่ยม แจ่มจำรูญ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และสถาบันวิจัยพืชสวน ปี 2554 - 2557 ปรับปรุงอัญชันพันธุ์ปลูกทั่วไป แบบคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์แท้ที่มีความคงตัวทางพันธุกรรม ในด้านผลผลิต ปริมาณแอนโธไซยานิน สีดอก และลักษณะกลีบดอก ปลูกคัดเลือกและเปรียบเทียบสายพันธุ์ในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร จำแนกความแตกต่างทางพันธุกรรมในระดับดีเอ็นเอด้วยเทคนิคโมเลกุลเครื่องหมายที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น วิเคราะห์หาปริมาณแอนโธไซยานินที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อัญชันดอกสีน้ำเงินที่ผ่านการคัดเลือก 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 7-1-16, 14-2-2, 18-2-5 และ 13 เปรียบเทียบกับพันธุ์ปลูกทั่วไปพบว่า สายพันธุ์ 14-2-2, 13 และ 18-2-5 ให้ปริมาณแอนโธไซยานินสูงสุด 74.7, 74.0 และ 72.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักดอกสด 100 กรัม สูงกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป ร้อยละ 12, 11 และ 9 ตามลำดับ สายพันธุ์ 7-1-16 ให้ค่าเฉลี่ยผลผลิตดอกสดสูงสุด 1,639 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่แตกต่างกันทางสถิติกับสายพันธุ์ 13 และพันธุ์ปลูกทั่วไป ซึ่งให้ผลผลิตดอกสดรองลงมา คือ 1,150 และ 1,144 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ทั้ง 4 สายพันธุ์ มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมร้อยละ 98 - 99 อัญชันทั้ง 4 สายพันธุ์ และพันธุ์ปลูกทั่วไป มีความแตกต่างกันทางสถิติของขนาดใบในใบประกอบที่มี 5 ใบย่อย และมีความแตกต่างกันของลักษณะกลีบดอก
|