การทดสอบการให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2554 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=4) +--- เรื่อง: การทดสอบการให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (/showthread.php?tid=226) |
การทดสอบการให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - doa - 11-02-2015 การทดสอบการให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุดม คำชา, กาญจนา ทองนะ, พสุ สกุลอารีวัฒนา, นิยม ไข่มุกข์, อัญชลี ชาวนา, บุญอุ้ม แคล้วโยธา, วสันต์ วรรณจักร, สิทธิพงศ์ ศรีสว่างวงศ์, อัมพร ทองปลิว, สุทธินันท์ ประสาทสุวรรณ, รัตน์ติยา สืบสายบุญส่ง, สมใจ โควสุรัตน์, อาณัติ วัฒนสิทธิ์ และนฤทัย วรสถิตย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมุกดาหาร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์, ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ผลการทดสอบการปลูกปาล์มน้ำมันในแหล่งปลูกต่างๆ จำนวน 10 แห่ง โดยใช้ปาล์มน้ำมันพันธุ์ สฎ.1 สฎ.2 สฎ.3 สฎ.4 สฎ.5 และ สฎ.6 ที่มีอายุระหว่าง 3 - 6 ปี การศึกษาได้แบ่งปาล์มน้ำมันออกเป็น 2 กลุ่มตามปริมาณการให้น้ำ กลุ่มแรกปาล์มน้ำมันได้รับน้ำอย่างพอเพียงโดยการปล่อยไปตามร่อง หรือได้รับน้ำเสริมในช่วงฤดูแล้ง 400-600 ลิตร/ต้น/สัปดาห์ และกลุ่มที่สองเป็นปาล์มน้ำมันที่ไม่ได้ให้น้ำเสริมในช่วงฤดูแล้งหรือได้รับน้ำเสริมน้อยกว่า 100 ลิตร/ต้น/สัปดาห์ เปรียบเทียบกับปาล์มน้ำมันปลูกที่ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี (ศวป. สุราษฎร์ธานี) การเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมันทุกพันธุ์ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีเช่นเดียวกับปาล์มน้ำมันในภาคใต้ เปอร์เซ็นต์ช่อดอกตัวเมีย (sex-ratio) เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 34-67% โดยพันธุ์ สฎ.5 มีเปอร์เซ็นต์ช่อดอกตัวเมียสูงสุดเฉลี่ย 67% เมื่อเปรียบเทียบกับปาล์มน้ำมันที่ปลูกที่ ศวป.สุราษฎร์ธานีทั้งแปลงที่มีการให้น้ำและไม่มีการให้น้ำพบว่า เปอร์เซ็นต์ช่อดอกตัวเมียเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน สำหรับผลผลิตเฉลี่ยในภาพรวมพบว่า พันธุ์สฎ.1 ให้ผลผลิตสูงสุด 2,605 กิโลกรัม/ไร่ รองลงมาได้แก่พันธุ์ สฎ.5 สฎ.4 และ สฎ.2 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,511 2,244 และ 2,104 กิโลกรัม/ไร่ตามลำดับ เมื่อแยกเฉพาะการให้น้ำและไม่ให้น้ำพบว่า เมื่อให้น้ำพันธุ์ สฎ.5 ให้ผลผลิตสูงสุด 2,895 กิโลกรัม/ไร่ แต่เมื่อไม่ให้น้ำให้ผลผลิต 1,742 กิโลกรัม/ไร่ (ผลผลิตลดลง 40%) รองลงมาได้แก่ พันธุ์ สฎ.1 เมื่อให้น้ำให้ผลผลิต 2,772 กิโลกรัม/ไร่ แต่เมื่อไม่ให้น้ำให้ผลผลิตสูงสุด 2,190 กิโลกรัม/ไร่ (ผลผลิตลดลง 21%) สำหรับพันธุ์ สฎ.3 การให้น้ำให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,262 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่เมื่อไม่ให้น้ำผลผลิตเฉลี่ยลดลง 20% (1,808 กิโลกรัม/ไร่) และในภาพรวมทุกพันธุ์มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกที่ ศวป. สุราษฎร์ธานี ผลการทดลองสรุปได้ว่า ปาล์มน้ำมันพันธุ์ สฎ.1 เป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากผลผลิตลดลงไม่มากนักเมื่อขาดน้ำ ส่วนพันธุ์ สฎ.5 จะเหมาะสมกับแปลงที่ให้น้ำได้เท่านั้น การปลูกปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเป็นไปได้ แต่ต้องมีการจัดการที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกพื้นที่ปลูกให้เหมาะสมและมีการให้น้ำ ผลต่อเนื่องจากการทดสอบการปลูกปาล์มน้ำมันทำให้มีการกระจายกล้าปาล์มน้ำมันจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคายไปสู่เกษตรกรแล้วไม่น้อยกว่า 970,00 ต้น คิดเป็นพื้นที่ปลูก 44,090 ไร่
|