คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ถั่วลิสงขนาดเมล็ดปานกลางเพื่อทนทานโรคยอดไหม้ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2557 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=7)
+--- เรื่อง: ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ถั่วลิสงขนาดเมล็ดปานกลางเพื่อทนทานโรคยอดไหม้ (/showthread.php?tid=2223)



ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ถั่วลิสงขนาดเมล็ดปานกลางเพื่อทนทานโรคยอดไหม้ - doa - 01-20-2017

ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ถั่วลิสงขนาดเมล็ดปานกลางเพื่อทนทานโรคยอดไหม้
วรยุทธ  ศิริชุมพันธ์ และมณี หาชานนท์       
ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน

          การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงขนาดเมล็ดปานกลางให้มีความทนทานต่อโรคยอดไหม้กว่าพันธุ์รับรองที่มีอยู่เดิม นำพันธุ์ทนทานโรคยอดไหม้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ICGV 86388 และ KK43-46-1 ผสมข้ามพันธุ์กับพันธุ์ดีเด่นขนาดเมล็ดปานกลางที่ให้ผลผลิตสูง มีลักษณะทางการเกษตรดี จำนวน 17 คู่ผสม ทำการคัดเลือกพันธุ์แบบ single seed descent โดยปลูกชั่วที่ 1  ในปี 2554  ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น และทำการคัดเลือกลูกผสมชั่วที่ 2 - 6 ระหว่างปี 2554 - 2557 

          ผลการทดลองพบว่า สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ดีเด่นที่ทนทานโรคยอดไหม้กว่าพันธุ์รับรองเดิม และมีผลผลิตสูง และลักษณะทางการเกษตรดีได้จำนวน 40 สายพันธุ์ จาก 13 คู่ผสม แต่ละคู่ผสมเป็นโรคยอดไหม้ระหว่าง 0.0 - 19.9 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พันธุ์ขอนแก่น 60-2 เป็นโรค 12.9 - 35.0 เปอร์เซ็นต์ และให้น้ำหนักฝักแห้ง  9 - 39  กรัมต่อต้น น้ำหนักเมล็ด 2 - 24  กรัมต่อต้น จำนวนฝักต่อต้น 8 - 31  ฝัก น้ำหนัก 100 เมล็ด  42.2 - 78.4  กรัม โดยสามารถคัดเลือกคู่ผสมที่ไม่เป็นโรคยอดไหม้ได้ 2 คู่ผสม คือ KK 43-46-1 x ICG 13942 และKK 43-46-1 x ICG 3775  อย่างละ 2 สายพันธุ์ และคัดเลือกคู่ผสม KK 97-44-112 x KK 43-46-1 ที่เป็นโรคยอดไหม้เฉลี่ย 12.3 เปอร์เซ็นต์ ได้จำนวนสูงสุด 13 สายพันธุ์ จะได้นำสายพันธุ์ดีเด่นและทนทานโรคยอดไหม้ทั้ง  40 สายพันธุ์ดังกล่าว ไปปลูกเพื่อประเมินผลผลิตในขั้นตอนการเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้นต่อไป