การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตถั่วเขียวในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและสระบุรี - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2557 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=7) +--- เรื่อง: การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตถั่วเขียวในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและสระบุรี (/showthread.php?tid=2216) |
การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตถั่วเขียวในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและสระบุรี - doa - 01-20-2017 การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตถั่วเขียวในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี นงลักษ์ ปั้นลาย และวีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตถั่วเขียวในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและสระบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อหาเทคโนโลยีในการผลิตถั่วเขียวที่เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และสระบุรี ดำเนินการในไร่เกษตรกรจังหวัดลพบุรี และสระบุรี ต้นฤดูฝนปี 2554 - 2557 มีขั้นตอนในการดำเนินงานดังนี้ 1.การเลือกและวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมาย 2.การวางแผนการวิจัย 3.การดำเนินการวิจัย 4.การสรุปผลและยืนยันการทดสอบ 5.การขยายผลการทดสอบ โดยนำเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรไปปรับใช้ในแปลงเกษตรกร ทำการวิเคราะห์ดินก่อนปลูกและแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับการใช้เชื้อไรโซเบียมคลุกเมล็ดพันธุ์
ปี 2554 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 5 รายๆ ละ 2 ไร่ ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบและกรรมวิธีเกษตรกร จากการวิเคราะห์ดินก่อนปลูกได้แนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินอัตรา 3-9-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ 3 ราย และอัตรา 3-9-6 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ 2 ราย ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีทดสอบให้ค่าเฉลี่ยผลผลิตเมล็ดต่อไร่มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร และให้องค์ประกอบผลผลิต ได้แก่ จำนวนต้นต่อไร่ น้ำหนัก 1,000 เมล็ด ความสูง จำนวนฝักต่อต้น และจำนวนเมล็ด มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ด้านผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์พบว่ากรรมวิธีทดสอบให้สัดส่วนผลตอบแทนสุทธิ (BCR) ต่ำกว่ากรรมวิธีเกษตรกร และระหว่างดำเนินการทดลองแปลงทดลองประสบปัญหาฝนตกชุก และน้ำท่วมขัง
ปี 2555 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 7 รายๆ ละ 2 ไร่ ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบและกรรมวิธีเกษตรกร จากการวิเคราะห์ดินก่อนปลูกได้แนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน อัตรา 6-3-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ 2 ราย อัตรา 6-6-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ 2 ราย และอัตรา 6-9-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ 3 ราย ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีทดสอบให้ค่าเฉลี่ยผลผลิตเมล็ดต่อไร่มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร และให้องค์ประกอบผลผลิต ได้แก่ จำนวนต้นต่อไร่ ความสูง และจำนวนเมล็ด มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ด้านผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์พบว่า กรรมวิธีทดสอบให้สัดส่วนผลตอบแทนสุทธิ (BCR) ต่ำกว่ากรรมวิธีเกษตรกร และระหว่างดำเนินการทดลองแปลงทดลองประสบปัญหาฝนแล้ง ถูกแมลงศัตรูพืช เข้าทำลายในระยะออกดอก เป็นผลให้ต้นถั่วบางส่วนไม่ติดฝัก ผลผลิตต่ำ
ปี 2556 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 5 รายๆ ละ 2 ไร่ ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบและกรรมวิธีเกษตรกร จากการวิเคราะห์ดินก่อนปลูกได้แนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน อัตรา 0-9-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ 1 ราย อัตรา 0-6-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ 2 ราย และ อัตรา 0-9-6 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ 2 ราย ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีทดสอบให้ค่าเฉลี่ยผลผลิตเมล็ดต่อไร่มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร และให้องค์ประกอบผลผลิตได้แก่ จำนวนต้นต่อไร่ น้ำหนัก 1,000 เมล็ด ความสูง และจำนวนกิ่ง มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ด้านผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์พบว่า กรรมวิธีทดสอบให้สัดส่วนผลตอบแทนสุทธิ (BCR) ต่ำกว่ากรรมวิธีเกษตรกร และระหว่างดำเนินการทดลองช่วงต้นฤดูปลูก แปลงปลูกประสบปัญหาฝนแล้ง เมล็ดงอกไม่ดี ทำให้ผลผลิตต่ำ
ปี 2557 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 5 รายๆ ละ 2 ไร่ ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบและกรรมวิธีเกษตรกร จากการวิเคราะห์ดินก่อนปลูกได้แนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน อัตรา 3-9-6 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ ทั้ง 5 ราย ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีทดสอบให้ค่าเฉลี่ยผลผลิตเมล็ดต่อไร่มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร และให้องค์ประกอบผลผลิตได้แก่ จำนวนต้นต่อไร่ น้ำหนัก 1,000 เมล็ด ความสูง จำนวนข้อ จำนวนฝัก และจำนวนเมล็ด มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ด้านผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์พบว่า กรรมวิธีทดสอบให้สัดส่วนผลตอบแทนสุทธิ (BCR) มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร
|