คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ประเมินคุณค่าเพื่อการใช้ประโยชน์ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตรต่อถั่วเขียว - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2557 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=7)
+--- เรื่อง: ประเมินคุณค่าเพื่อการใช้ประโยชน์ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตรต่อถั่วเขียว (/showthread.php?tid=2210)



ประเมินคุณค่าเพื่อการใช้ประโยชน์ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตรต่อถั่วเขียว - doa - 01-20-2017

การประเมินคุณค่าเพื่อการใช้ประโยชน์ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตรต่อถั่วเขียวสายพันธุ์ดีเด่น
จิราลักษณ์ ภูมิไธสง, ศิริลักษณ์ จิตรอักษร, สุมนา งามผ่องใส และอารดา  มาสริ
ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท และกลุ่มวิจัยจุลินทรีย์ดิน สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ทำการทดสอบสอบสายพันธุ์ไรโซเบียมที่มีประสิทธิภาพการตรึงไนโตรเจนสูงกับถั่วเขียวผิวมันสายพันธุ์ดีเด่น CNMB-06-02-20-5 และ CNMB-06-03-60-7 ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ระหว่างปี 2556 - 2557 ทำการคัดเลือกไรโซเบียมที่มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนสูงสุดในห้องปฏิบัติการได้ 2 สายพันธุ์/สายพันธุ์ถั่วเขียว โดยถั่วเขียวสายพันธุ์ CNMB-06-02-20-5 คัดเลือกไรโซเบียม DASA02001 และ DASA020193 สายพันธุ์ CNMB-06-03-60-7 คัดเลือกไรโซเบียม DASA02001 และ DASA02006 

          ผลการทดลองสภาพกระถางปลูก ฤดูแล้งปี 2556 พบว่า ถั่วเขียวผิวมันสายพันธุ์ CNMB06-02-20-5 ทุกกรรมวิธี ให้น้ำหนักเมล็ดต่อต้น จำนวนฝักต่อต้น และความสูงต้นไม่แตกต่างกันทางสถิติ ส่วนถั่วเขียวสายพันธุ์ CNMB06-03-60-7 พบว่าการใช้ไรโซเบียมปริมาณ 108 เซลล์ต่อมิลลิลิตรร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 0-9-6 ของ N-P2O5-K2O ต่อไร่ (Tr. 5) และการใช้ไรโซเบียมปริมาณ 109 เซลล์ต่อมิลลิลิตร ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 0-9-6 ของ N-P2O5-K2O ต่อไร่ (Tr. 6) และการใส่ปุ๋ยเคมี อัตรา 3-9-6 กิโลกรัมต่อไร่ (Tr. 3) ให้ความสูงต้นสูงกว่า control (Tr. 1) อย่างมีนัยสำคัญ แต่ทุกกรรมวิธีให้น้ำหนักเมล็ดต่อต้น จำนวนฝักต่อต้น จำนวนเมล็ดต่อฝัก ไม่แตกต่างกันทางสถิติ

          ผลการทดลองฤดูฝนปี 2557 พบว่า ถั่วเขียวผิวมันสายพันธุ์ CNMB06-02-20-5 การใช้ไรโซเบียมที่วัสดุรองรับผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อร่วมกับการใส่ปุ๋ย อัตรา 0-9-6 กิโลกรัมต่อไร่พร้อมปลูก (Tr. 6) ให้ผลผลิตเมล็ดสูงกว่าการใช้ไรโซเบียมที่วัสดุรองรับไม่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อร่วมกับการใส่ปุ๋ย อัตรา 0-9-6 กิโลกรัมต่อไร่พร้อมปลูก (Tr. 3) ขณะที่สายพันธุ์ CNMB06-03-60-7 ทุกกรรมวิธี ให้ผลผลิตเมล็ด จำนวนฝักต่อต้น จำนวนเมล็ดต่อฝัก และความสูงต้น ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ส่วนผลการทดลองในฤดูแล้งปี 2558 พบว่า ถั่วเขียวทั้ง 2 สายพันธุ์ ทุกรรมวิธีให้ผลผลิตเมล็ด น้ำหนัก 1,000 เมล็ด จำนวนฝักต่อต้น จำนวนเมล็ดต่อฝัก และความสูงต้น ไม่แตกต่างกันทางสถิติ