ศึกษาและวิเคราะห์การปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2557 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=7) +--- เรื่อง: ศึกษาและวิเคราะห์การปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ (/showthread.php?tid=2176) |
ศึกษาและวิเคราะห์การปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ - doa - 01-13-2017 ศึกษาและวิเคราะห์การปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ นิมิตร วงศ์สุวรรณ, สุพัตรา ชาวกงจักร์ และวสันต์ วรรณจักร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ การศึกษาการปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการในพื้นที่ 3 อำเภอ เกษตรกร จำนวน 100 ราย โดยใช้วิธีการสำรวจข้อมูลแบบเจาะจง (Purposive sampling) และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่แปลงปาล์มน้ำมันที่สำรวจเป็นแปลงที่ยังไม่ให้ผลผลิตร้อยละ 78 มีขนาดพื้นที่ปลูกมากกว่า 10 ไร่ร้อยละ 60 ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบถึงลาดเอียงเล็กน้อย ร้อยละ 97 ดินเป็นดินร่วนปนทรายร้อยละ 85 ปาล์มน้ำมันมีอายุน้อยกว่า 3 ปีร้อยละ 64 เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ลูกผสมเทเนอราของกรมวิชาการเกษตรและเอกชนร้อยละ 87 โดยซื้อพันธุ์มาจากเอกชนร้อยละ 75 เหตุผลของการปลูกปาล์มน้ำมันร้อยละ 84 ปลูกตามเพื่อนบ้าน การเตรียมแปลงปลูกเกษตรกรไถเตรียมดิน 2 ครั้ง ร้อยละ 70 การวางผังร้อยละ 42 วางแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า 9x9x9 เมตร ก่อนปลูกมีการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต โดโลไมท์ ร้อยละ 86 ส่วนการจัดการแปลงปาล์มน้ำมันก่อนให้ผลผลิตพบว่า เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชแซมร้อยละ 45 การจัดการน้ำส่วนใหญ่ไม่มีระบบน้ำเสริมร้อยละ 69 มีเพียงร้อยละ 31 ที่ให้น้ำเสริมในฤดูแล้ง โดยวิธีการปล่อยเข้าร่องและระบบสปริงเกลอร์ การใส่ปุ๋ยเกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ แต่พบว่าเกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีไม่ถูกต้องตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรถึงร้อยละ 99 ใส่รอบทรงพุ่มร้อยละ 99 และใส่ 2 ครั้งต่อปี ร้อยละ 50 การกำจัดวัชพืชมีการกำจัดร้อยละ 97 ปีละ 2 ครั้งร้อยละ 54 กำจัดโดยใช้เครื่องตัดหญ้าร่วมกับแรงงานร้อยละ 78 ส่วนการตัดแต่งทางใบร้อยละ 87 ตัดแต่งทางใบถูกต้องตามคำแนะนำ แต่การตัดช่อดอกร้อยละ 88 เกษตรกรปฏิบัติไม่ถูกต้อง สำหรับการจัดการแปลงปาล์มน้ำมันหลังให้ผลผลิตพบว่า เกษตรกรปลูกข้าวและกล้วยเป็นพืชแซมร้อยละ 20 การจัดการน้ำอาศัยน้ำฝนร้อยละ 64 การใส่ปุ๋ยเกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์หลากหลายสูตร แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ใส่ปุ๋ยเคมีไม่ถูกต้องตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และใส่รอบทรงพุ่ม 100 เปอร์เซ็นต์ ปีละ 2 ครั้งร้อยละ 50 การกำจัดวัชพืชมีการกำจัดร้อยละ 82 โดยกำจัดรอบโคนต้นและในแปลง ปีละ 1 ครั้งร้อยละ 72 เกษตรกรตัดแต่งทางใบร้อยละ 82 เริ่มตัดทางใบครั้งแรกเมื่ออายุ 3 และ 4 ปีร้อยละ 44 และ 33 ตามลำดับ การเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันเริ่มเก็บเกี่ยวเมื่ออายุตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวที่อายุ 3 และ 4 ปี ร้อยละ 32 การเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเก็บเกี่ยวเฉพาะในช่วงที่ราคาสูงและพ่อค้านัดหมายร้อยละ 95 ขนย้ายผลผลิตออกจากแปลงโดยรถยนต์ร้อยละ 73 ผลผลิตปาล์มน้ำมันของจังหวัดกาฬสินธุ์ สูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 1,255 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และต่ำสุดเฉลี่ย 101 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ราคาจำหน่ายสูงสุด 4.7 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนกรกฎาคม ราคาต่ำสุด 1.2 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนกุมภาพันธ์ จำหน่ายให้พ่อค้าลานเทที่มารับซื้อในหมู่บ้านร้อยละ 82 ปัญหาการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ที่พบมากที่สุดร้อยละ 75 คือ เรื่องของแหล่งน้ำ เงินทุน ความรู้ และแรงงาน
|