ถั่วเหลืองสำหรับแปรรูปน้ำนมถั่วเหลือง: พันธุ์ลพบุรี 84-1 - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2554 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=4) +--- เรื่อง: ถั่วเหลืองสำหรับแปรรูปน้ำนมถั่วเหลือง: พันธุ์ลพบุรี 84-1 (/showthread.php?tid=215) |
ถั่วเหลืองสำหรับแปรรูปน้ำนมถั่วเหลือง: พันธุ์ลพบุรี 84-1 - doa - 11-02-2015 ถั่วเหลืองสำหรับแปรรูปน้ำนมถั่วเหลือง: พันธุ์ลพบุรี 84-1 อานนท์ มลิพันธ์, สมศักดิ์ ศรีสมบุญ, อารีรัตน์ พระเพชร, อรรณพ กสิวิวัฒน์, นรีลักษณ์ วรรณสาย, อนุวัฒน์ จันทรสุวรรณ, เชาวนาถ พฤทธิเทพ, วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ และวิไลวรรณ พรหมคำ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบูรณ์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิษณุโลก, สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน, ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ถั่วเหลืองพันธุ์ลพบุรี 84-1 มาจากสายพันธุ์ GC96026-10 ซึ่งเป็น 1 ใน 31 สายพันธุ์ ที่มีกลิ่นเหม็นเขียวน้อย โดยนำเข้ามาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักแห่งเอเชีย (Asian Vegetable Research and Development Center, AVRDC) ประเทศไต้หวัน เมื่อปี 2546 นำมาคัดเลือกเพื่อให้ได้สายพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีคุณภาพทางเคมีและทางด้านประสาทสัมผัส (รสชาติและกลิ่น) เป็นที่ยอมรับสำหรับการผลิตน้ำนมถั่วเหลือง และให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 60 ซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ โดยทำการเปรียบเทียบเบื้องต้นและมาตรฐาน ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2549 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี อ.เมือง จ.ลพบุรี และเริ่มตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางด้านน้ำนมถั่วเหลืองของสายพันธุ์ที่คัดเลือกได้ ในปี 2549 ที่ห้องปฏิบัติการ บริษัท แดรี่ พลัส จำกัด จากนั้นทำการเปรียบเทียบและทดสอบในไร่เกษตรกร จังหวัดลพบุรี สุโขทัย เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก เพื่อศึกษาผลของสภาพแวดล้อมที่ต่างกันต่อคุณภาพทางด้านน้ำนมถั่วเหลืองและผลผลิต ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2552 และศึกษาข้อมูลจำเพาะของสายพันธุ์ดีเด่นใน ปี 2553 จนคัดเลือกได้ถั่วเหลืองสายพันธุ์ GC96026-10 ที่มีลักษณะเด่นคือ (1)มีกลิ่นเหม็นเขียวน้อยและมีกลิ่นหอมของถั่วเหลืองค่อนข้างเด่นชัดซึ่งเป็นที่ยอมรับของบริษัทผู้ผลิตน้ำนมถั่วเหลือง (2)ให้ผลผลิตเฉลี่ย 358 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 60 ร้อยละ 10 (3)เมล็ดพันธุ์มีความงอกดีและเก็บรักษาได้นานกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 60 และ (4) ต้านทานต่อโรคใบจุดนูนของถั่วเหลือง ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายปริมาณเมล็ดพันธุ์และแนะนำให้ภาคเอกชนและเกษตรกรปลูกเพื่อใช้สำหรับเป็นถั่วเหลืองแปรรูปเป็นน้ำนมถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์อาหารต่อไป
|