คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
วิจัยและพัฒนาลิ้นจี่ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: วิจัยและพัฒนาลิ้นจี่ (/showthread.php?tid=2124)



วิจัยและพัฒนาลิ้นจี่ - doa - 01-09-2017

วิจัยและพัฒนาลิ้นจี่
นิพัฒน์ สุขวิบูลย์ และคณะ

โครงการวิจัยที่ 1 โครงการวิจัยพัฒนาพันธุ์ลิ้นจี่
นิพัฒน์ สุขวิบูลย์, ศิรากานต์ ขยันการ, อรุณี ใจเถิง, นฤนาท ชัยรังษี, จารุฉัตร เขนยทิพย์, ชัยกฤติ พรหมา และสุมิตร วิลัยพร

          การรวบรวม จำแนก ประเมินคุณค่า และพัฒนาพันธุ์ลิ้นจี่ ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จ. เชียงราย (ศวส.เชียงราย) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ (ศวพ.เชียงใหม่) ระหว่างปี 2554 - 2558 ซึ่งที่ ศวส.เชียงรายรวบรวมพันธุ์ลิ้นจี่ได้ 50 พันธุ์/สายพันธุ์ ในพื้นที่ 8 ไร่ และ ศวพ.เชียงใหม่ได้ 34 พันธุ์/สายพันธุ์ ในพื้นที่ 5 ไร่ ผลการทดลองพบว่า ใบ ดอก ผล และเมล็ดแตกต่างกันตามพันธุ์ ลักษณะที่ใช้จำแนกพันธุ์ได้ คือ รูปร่างผล เปลือกผล สีเนื้อ และช่วงการออกดอก ซึ่งอาจแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพันธุ์ภาคกลาง เช่น ค่อม ช่อระกำและกะโหลกใบขิงซึ่งออกดอกติดผลเร็ว เปลือกผลมีหนามแหลมถี่และเปลือกสีแดงคล้ำ ส่วนกลุ่มพันธุ์ภาคเหนือเช่น ฮงฮวยและโอเฮียะออกดอกติดผลช้ากว่า เปลือกผลมีหนามสั้นห่าง และเปลือกสีแดงสด บางพันธุ์มีเมล็ดลีบ ได้แก่ พันธุ์กิมเจ็ง และ salathiel ได้ทำฐานข้อมูลเชื้อพันธุกรรมลิ้นจี่จนครบทุกลักษณะแล้ว 31 พันธุ์/สายพันธุ์ ได้เพิ่มเติมและพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการพันธุ์ลิ้นจี่ทุกปี

          ปี 2554-2556 ได้คัดเลือกพันธุ์สำหรับใช้ผสมพันธุ์ให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ออกดอกติดผลหรือเก็บเกี่ยวได้เร็วและคุณภาพดี ทำการผสมพันธุ์จำนวน 63 คู่ผสมแล้วปลูกต้นลูกผสมรวม 560 ต้นในแปลงคัดเลือกลูกผสม พร้อมทั้งได้นำยอดลูกผสมบางส่วนไปเสียบยอดบนต้นพันธุ์ฮงฮวย 15 ต้นที่ออกดอกติดผลแล้วที่ศวส.เชียงราย เพื่อชักนำให้ออกดอกติดผลเร็วขึ้น การศึกษาลักษณะลูกผสมจะดำเนินการในโครงการรวบรวม จำแนก ประเมินคุณค่า และพัฒนาพันธุ์ลิ้นจี่ระยะที่ 2 (2559 - 2564)

โครงการวิจัยที่ 2 การพัฒนาเทคโนโลยีจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ในเขตภาคเหนือ
วิทยา อภัย, สถิตย์พงศ์ รัตนคำ, สุทธินี ลิขิตตระกูลรุ่ง, เกรียงศักดิ์ นักผูก, สมเพชร เจริญสุข, สนอง อมฤกษ์, ปรีชา ชมเชียงคำ และชัยวัฒน์ เผ่าสันทัดพาณิชย์

          ลิ้นจี่เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่เก็บรักษาได้เพียง 2 - 3 วัน เนื่องจากสีผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเน่าเสีย เทคโนโลยีการยืดอายุลิ้นจี่ในปัจจุบัน ได้แก่ 1) การลดอุณหภูมิด้วยน้ำเย็นช่วยยืดอายุได้ 10 วันที่อุณหภูมิ 0 - 5 °C แต่ปัญหาที่พบ คือ การปนเปื้อนในน้ำเย็นจากจุลินทรีย์ ดังนั้นวิธีการลดการปนเปื้อนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และ 2) การรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) สามารถยืดอายุการเก็บรักษาระหว่างส่งออกได้นาน 30 - 40 วัน แต่พบปัญหา คือ การกำหนดมาตรฐานการตกค้างของ SO2 ในเนื้อผลต่ำของสหภาพยุโรป (EU) เพียง 10 ppm และมาตรฐานโคเดกซ์กำหนดค่าการตกค้างทั้งผลเพียง 50 ppm และมีบางประเทศไม่ยอมรับผลไม้ที่ผ่านการรมก๊าซ SO2 ทำให้เป็นข้อจำกัดในการส่งออกลิ้นจี่ของไทย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 (สวพ.1) จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ในเขตภาคเหนือระหว่างปี 2557 - 2558 โดยวิจัยหาเทคโนโลยีใหม่ทดแทนการรม SO2 เช่น การแช่กรดเกลือ 1 เปอร์เซ็นต์ผสมโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ 3% นาน 5 นาที พบว่า การตกค้างของ SO2 ในเนื้อต่ำกว่า 10 ppm และต่ำกว่าค่าการตกค้างทั้งผล 50 ppm เมื่อเปรียบเทียบกับการรม SO2 ปกติ การวิจัยหาเทคโนโลยีทดแทนที่ไม่มีองค์ประกอบของสารประกอบ SO2 กรณีบางประเทศไม่ยอมรับ พบว่า การแช่ผลในกรดไฮโดรคลอริก 5% นาน 5 นาทีมีประสิทธิภาพสูงสุด รองลงมา คือ แช่คลอรีนไดออกไซด์ 0.6% นาน 5 นาที ทำให้เก็บรักษาล าไยที่ 2 - 5 °C และความชื้นสัมพัทธ์ 85 - 90% ได้นาน 28 วัน มีการตกค้างต่ำและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนเทคโนโลยีการลดการปนเปื้อนในน้ำเย็นสำหรับลดอุณหภูมิผลลิ้นจี่นั้นพบว่า การผสมคลอรีนไดออกไซด์ (ClO2) 300 ppm ช่วยลดการปนเปื้อนได้ คณะวิจัยจึงได้ทดสอบพัฒนาเครื่องต้นแบบสารทดแทน คือ การแช่กรดเกลือ 1 เปอร์เซ็นต์ผสมโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ 3% นาน 5 นาที ที่ปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน และเทคโนโลยีการผสมคลอรีนไดออกไซด์ 300 ppm ลดการปนเปื้อนในน้ำเย็นสำหรับลดอุณหภูมิผลลิ้นจี่ทดแทนแรงงานคนที่มีขีดความสามารถ 10 ตะกร้าพลาสติกต่อ 5 นาที ซึ่งผลงานวิจัยและพัฒนานี้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งออกลิ้นจี่ได้ต่อไป

โครงการวิจัยที่ 3 การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่เฉพาะพื้นที่
วีระ วรปิติรังสี, นิยม ไข่มุก, ปัญจพล สิริสุวรรณมา, ปฏิพัทธ์ ใจปิน, ศศิธร วรปิติรังสี, ศิริพร มะเจียว, อาทิตยา พงษ์ชัยสิทธิ์, มะนิต สารุณา, 
รพีพร ศรีสถิต, ชูศรี คำลี, สนอง จรินทร และชำนาญ กสิบาล

          ลิ้นจี่ (Litchi chinensis Sonn.) เป็นไม้ผลที่ปลูกมากทางภาคเหนือ พันธุ์ส่วนใหญ่ คือ พันธุ์ฮงฮวย โดยพบปัญหาสำคัญ ได้แก่ ปัญหาอาการเปลือกผลแห้งสีน้ำตาลของผลลิ้นจี่ จึงได้ศึกษาวิธีการลดความรุนแรงของอาการโดยการให้แคลเซียมแก่ต้นลิ้นจี่วิธีการต่างๆ ณ สวนเกษตรกรในเขต อ.แม่จัน และอ.เมือง จ.เชียงราย ระหว่างปี 2556 - 2558 โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ 8 กรรมวิธีๆ ประกอบด้วย ชนิด วิธีการ และอัตราการให้แคลเซียมแก่ต้นลิ้นจี่พบว่า การให้แคลเซียม กรรมวิธีต่างๆ ไม่ทำให้ลิ้นจี่มีเปอร์เซ็นต์จำนวนผลที่มีอาการเปลือกผลแห้งสีน้ำตาลแตกต่างกันทางสถิติ แต่ก็มีแนวโน้มว่าการให้แคลเซียมในรูปของปูนขาว หรือปูนโดโลไมท์ทางดิน หลังตัดแต่งกิ่ง จะช่วยลดความรุนแรงของอาการเปลือกผลแห้งสีน้ำตาลในลิ้นจี่ได้มากกว่าการไม่ให้แคลเซียม โดยที่ผลผลิต และคุณภาพผลผลิตไม่แตกต่างกัน

          สำหรับลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 นิยมปลูกในเขต จ.นครพนม และใกล้เคียง เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่าลิ้นจี่ทางภาคเหนือ จึงได้ทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่ที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยดำเนินการในแปลงเกษตรกร อ.เมือง จ.นครพนม ระหว่างปี 2554 - 2556 เปรียบเทียบวิธีการผลิต 2 กรรมวิธี คือ เทคโนโลยีแบบเกษตรกร และเทคโนโลยีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร พบว่าเทคโนโลยีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรจะทำให้ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 มีผลผลิต และคุณภาพดีกว่าเทคโนโลยีแบบเกษตร