การวิจัยและพัฒนาพืชไร่น้ำมันอื่นๆ (งา ทานตะวัน สบู่ดำ) - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28) +--- เรื่อง: การวิจัยและพัฒนาพืชไร่น้ำมันอื่นๆ (งา ทานตะวัน สบู่ดำ) (/showthread.php?tid=2117) |
การวิจัยและพัฒนาพืชไร่น้ำมันอื่นๆ (งา ทานตะวัน สบู่ดำ) - doa - 12-27-2016 การวิจัยและพัฒนาพืชไร่น้ำมันอื่นๆ (งา ทานตะวัน สบู่ดำ)
ธำรง เชื้อกิตติศักดิ์
1. โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการเพิ่มมูลค่าผลผลิตงา ธำรง เชือกิตติศักดิ์ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการเพิ่มมูลค่าผลผลิตงา ดำเนินการระหว่างปี 2554 - 2558 ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ การวิจัยและพัฒนาพันธุ์งา การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการผลิตงาในพื้นที่ที่มีศักยภาพ และการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตงา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาพันธุ์งาให้ได้สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีขนาดเมล็ดโต และมีคุณค่าทางอาหารสูง สายพันธุ์ทนแล้งที่ให้ผลผลิตสูง และสายพันธุ์ต้านทานโรคไหม้ดำ เน่าดำ หรือราแป้ง และพันธุ์งาที่มีความเหมาะสมเฉพาะเพื่อปลูกในเขตชลประทาน หรือเหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการปลูกงาในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ในสภาพนาเขตชลประทานและสภาพนาที่สามารถให้นำเสริมได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริมสุขภาพจากงา ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น ผลการดำเนินการ กิจกรรมที่ 1 พบว่างาขาวสายพันธุ์ PI280793 งาดำสายพันธุ์ BS54-54 และงาแดงสายพันธุ์ RSMUB54-12 ให้ผลผลิตในฤดูปลายฝนสูงใกล้เคียงหรือมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ 130 กก./ไร่ (169 124 และ 187 กก./ไร่ ตามลำดับ) ส่วนในต้นฤดูฝนพบว่า มีเพียงงาแดงสายพันธุ์ RSMUB54-12 ที่ให้ผลผลิตสูงกว่า 130 กก./ไร่ (187 กก./ไร่) การประเมินพันธุ์สำหรับเขตชลประทานจังหวัดอุบลราชธานี งาขาวสายพันธุ์ MKS-I-84001 ให้ผลผลิตสูงสุด 52 กก./ไร่ สายพันธุ์ MR36 A30-15 และอุบลราชธานี 1 ค่อนข้างทนทานต่อโรคเน่าดำ ที่เกิดจากเชื้อรา M. phaseolina สายพันธุ์ GMUB4 CM07 และ C plus 2 ค่อนข้างทนทานต่อโรคไหม้ดำ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย R. solonacearum และสายพันธุ์ GMUB1 ค่อนข้างต้านทานต่อโรคราแป้ง ที่เกิดจากเชื้อ Oidium sp. สำหรับงาทนแล้งไม่มีสายพันธุ์ใดที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์อุบลราชธานี 1 การปรับปรุงพันธุ์งาเพื่อฝักไม่แตกง่ายและพันธุ์งาที่ให้ผลผลิตสูงชุดใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์เพื่อเข้าประเมิน ผลผลิต รวมทั้งการรวบรวม ศึกษา และจำแนกลักษณะพันธุ์งา เพื่อจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ และสามารถนำไปใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมเพื่อปรับปรุงพันธุ์ต่อไป กิจกรรมที่ 2 พบว่างาในสภาพนาให้ผลผลิตดี เมื่อใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ อัตรา 150 กก./ไร่ การใช้ปุ๋ยพืชสด และการใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ อัตรา 150 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ย 8-8-4 กก./ไร่ ของ N-P2O5-K2O โดยมีวิธีการปลูก คือการไถกลบตอซังข้าว 1 ครั้ง ไถพรวน 1 - 2 ครั้ง โรยเป็นแถว และวิธีการตัดตอซังข้าว 1 ครั้ง ไถพรวน 2 ครั้ง ปลูกแบบหว่าน และควรปลูกช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ - ต้นเดือนมีนาคม งาให้ผลผลิตสูงที่สุด กำจัดวัชพืชด้วยแรงงานคน 2 ครั้ง เมื่องาอายุ 3 และ 6 สัปดาห์หลังปลูก การปลูกงาในสภาพนาโดยเครื่องปลูกแบบพ่วงท้ายแทรกเตอร์ และการใช้เครื่องเป่าทำความสะอาดเมล็ดงา โดยใช้เครื่องจักรขนาดเล็กช่วยประหยัดแรงงานและเวลา การปลูกงาในสภาพนาอินทรีย์การปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยพืชสดแล้วปลูกงา ให้ผลผลิตสูงกว่าการไม่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสดโดยการใช้ถั่วพุ่ม อัตรา 10 กก./ไร่ หรือปอเทือง อัตรา 5 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 45 วัน งาให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน ส่วนการใช้ปุ๋ยหมัก (โบกาฉิ) อัตรา 150-600 กก./ไร่ งาให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน การปลูกงาด้วยวิธีหว่านและโรยเป็นแถว และใช้อัตราเมล็ดพันธุ์งาตั งแต่ 0.5 - 1.5 กก./ไร่ ผลผลิตงาไม่แตกต่างกัน การปลูกงาในสภาพไร่การปลูกโดยใช้เครื่องมีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดแรงงาน และให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกแบบหว่าน ส่วนการปลูกในสภาพนา ผลผลิตไม่แตกต่างกัน การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตงาที่เหมาะสมกับพื้นที่ วิธีการตามคำแนะนำให้ผลผลิตที่ดีกว่าวิธีปฏิบัติเดิมของเกษตรกร ทั้งการใช้พันธุ์ วิธีการปลูก การแก้ปัญหาโรคเน่าดำ ไหม้ดำ และหนอนห่อใบงา กิจกรรมที่ 3 ได้สูตรการทำเนยงา คือ งาคั่ว : ถั่วลิสง อัตราส่วน 1 : 1 วิธีผลิตงางอกที่ให้ได้ผลผลิตงางอกดี มีคุณภาพ คือ การเพาะเมล็ดด้วยทรายหรือแกลบเผาได้ปริมาณงางอกสูง 17 - 20 เท่าของเมล็ดที่ใช้เพาะ และงางอกมีลักษณะยาวเหมาะที่จะใช้ในรูปผักสด การเพาะงางอกในอุณหภูมิห้องทั่วไป และมีการพรางแสง 80% ให้ผลผลิตนำหนักสดของงางอกสูง การเพาะในห้อง ควบคุมอุณหภูมิ ภายใต้สภาวะทึบแสง งางอกจะมีมีปริมาณสารกาบามากที่สุด 142.36 มก./งางอก 100 กรัม
2. โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทานตะวัน
กลวัชร ทิมินกุล, ธำรง เชื้อกิตติศักดิ์, วุฒิพล จันสระคู, นงลักษ์ ปั้นลาย, นิทัศน์ ตั้งพินิจกุล, ชยันต์ ภักดีไทย, อนุชิต ฉ่ำสิงห์, ปิยะรัตน์ จังพล และกัญญรัตน์ จำปาทอง งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องกะเทาะเมล็ดทานตะวันขนาดเล็กใช้สำหรับเกษตรกร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าจากทานตะวัน และลดการนำเข้าเครื่องจากต่างประเทศที่มีราคาสูง จึงได้ดำเนินการต่อยอดจากวิธีการกะเทาะแบบที่นิยมใช้กันอยู่ คือ ใช้การกะเทาะด้วยหลักการแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางไปกระทบกับผนังรอบแนวรัศมีของจานเหวี่ยงที่มีการบุด้วยสายพานผ้าใบ เพื่อลดการแตกของเมล็ดด้วยความเร็วเชิงเส้นประมาณ 35 เมตรต่อวินาที เกิดการกะเทาะได้เมล็ดทานตะวัน 3 ส่วน คือ ส่วนของเมล็ดที่ไม่กะเทาะ ส่วนที่กะเทาะเป็นเมล็ดเต็ม และเมล็ดแตกผสมอยู่รวมกัน แล้วโรยผ่านตู้โรยเพื่อแยกแกลบด้วยลมแล้วแยกขนาดโดยอาศัยคุณสมบัติทางด้านรูปร่าง (shape) มาเป็นตัวกำหนดขนาดรูของตะแกรง ออกแบบเป็นตะแกรง 2 ชั้น แยกได้ 3 ขนาด ชั้นบนแยกเมล็ดที่ไม่กะเทาะออก ชั้นกลางแยกเมล็ดที่กะเทาะเป็นเมล็ดเต็มออก ส่วนที่เหลือ คือ เมล็ดแตกจะร่วงลงชั้นล่าง แต่เครื่องที่มีการใช้อยู่ในท้องตลาดมีปัญหาการปนของเมล็ดที่ไม่กะเทาะหรือกากที่ผ่านการคัดแยกขนาดด้วยตะแกรงไม่หมด ด้วยข้อจำกัดของขนาดรูตะแกรงที่มีจำหน่ายในท้องตลาดไม่พอดีกับขนาดเมล็ดทานตะวันซึ่งมีความไม่สม่ำเสมอกัน จึงไม่สามารถที่จะทำการคัดแยกได้ทั้งหมด และใช้คนเก็บกากอีกรอบเพื่อแยกกากซึ่งปนอยู่ประมาณ 5 - 10 เปอร์เซ็นต์ จึงได้ทำการต่อยอดงานวิจัยนี้ ด้วยการนำถาดซิกแซ็กที่ใช้สำหรับการแยกกากข้าวออกจากข้าวกล้องในขบวนการสีข้าวมาใช้ทดสอบในการแยกกาก โดยอาศัยความแตกต่างแรงเสียดทานของผิวของเมล็ดที่กะเทาะและไม่กะเทาะที่กระทำต่อพื้นผิวที่เมล็ดกองหรือวางอยู่หรือค่าสัมประสิทธิ์ของแรงเสียดทานสถิต (coefficient of friction) ที่มีความแตกต่างกันประมาณ 3 องศา ผลการทดสอบพบว่า สามารถกะเทาะเมล็ดทานตะวันได้ด้วยอัตรากะเทาะ 60 กิโลกรัมต่อชั่วโมง มีเปอร์เซ็นต์การกะเทาะ 67 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดเต็ม 53% และเปอร์เซ็นต์เมล็ดแตก 14 เปอร์เซ็นต์เมล็ดที่ไม่กะเทาะ 32% และสามารถแยกกากด้วยถาดซิกแซ็กได้หมดโดยสมบูรณ์ ที่ความเร็วรอบ 110 รอบ/นาที มุมเอียง 3 องศา ความสามารถในการคัดแยก 20 กิโลกรัม/ชั่วโมง/การป้อน 6 ช่อง 3. โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทานตะวัน
ธำรง เชื้อกิตติศักดิ์, เพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง, สมใจ โควสุรัตน์, ศิริวรรณ อำพันฉาย, จุไรรัตน์ กันภัย, อานนท์ มลิพันธ์, เสาวรี บำรุง, ปิยะรัตน์ จังพล, รัศมี สิมมา, กัญญรัตน์ จำปาทอง และอุไรพร บุญเพชร โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทานตะวันมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสายพันธุ์ทานตะวันพันธุ์ผสมเปิดที่ให้ผลผลิตสูงใกล้เคียงกับพันธุ์ลูกผสม เมล็ดพันธุ์ราคาถูก สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ และเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนสูงกว่าพันธุ์ลูกผสม ผลการวิจัย ได้ปรับปรุงประชากรของทานตะวันพันธุ์เชียงใหม่ 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมเปิดที่มีอยู่แล้วให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงใกล้เคียงกับพันธุ์ลูกผสมทางการค้าทำการปรับปรุงประชากรจนถึงรอบที่ 4 ได้ประชากรทานตะวันพันธุ์เชียงใหม่ 1 ที่ปรับปรุงแล้ว 1 ประชากร คัดเลือกสายพันธุ์แท้รอบที่ 1 จากประชากรดังกล่าว จำนวน 41 สายพันธุ์ นอกจากนี้ ได้สร้างฐานพันธุกรรมทานตะวันชนิดสกัดน้ำมัน 1 ประชากร น้ำพันธุ์ลูกผสมทางการค้าที่มีจำหน่ายมาประเมินผลผลิตพบว่า พันธุ์อาตูเอล ให้ผลผลิตสูงสุด 289 กก./ไร่ แต่ไม่แตกต่างกับพันธุ์จัมโบ้ และอะควาร่า 6 ที่ให้ผลผลิต 259 และ 246 กก./ไร่ จากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกทานตะวัน จังหวัดลพบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดนครสวรรค์ พบว่าเกษตรกรปลูกทานตะวันเป็นพืชรองจากข้าวโพดอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปลูกเดือนกันยายน - พฤศจิกายน พันธุ์ปลูกทั้งหมดเป็นพันธุ์ลูกผสม อัตราเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 0.8 - 2 กก. ราคาเมล็ดพันธุ์ กก. ละ 430 - 700 บาท คิดเป็นต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ 378 - 1,105 บาท/ไร่ ร้อยละ 60 - 64 มีการใส่ปุ๋ยร้อยละ 70 - 90 ไม่มีการกำจัดวัชพืชร้อยละ 98 - 100 ใช้รถเก็บเกี่ยว ผลผลิตเฉลี่ยตั้งแต่ 79 - 267 กก./ไร่ ต้นทุนอยู่ระหว่าง 1,748 - 1,805 บาท/ไร่ ราคาขายอยู่ระหว่าง 17.50 - 18.85 บาท/กก. มีทั้งขาดทุนและกำไร เป็นข้อมูลที่น้ำไปใช้ประกอบการตัดสินใจของเกษตรกร หรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับทานตะวันต่อไป 4. โครงการวิจัยและพัฒนาสบู่ดำ
อนุวัฒน์ จันทรสุวรรณ และคณะ การรวบรวมพันธุ์สบู่ดำเพื่อให้ได้สายพันธุ์สบู่ดำที่ให้ผลผลิตสูง และมีปริมาณสารพิษ phorbol esters น้อย ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2558 ผลการทดลองพบว่า ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา รวบรวมพันธุ์สบู่ดำ ได้จำนวน 44 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ที่ได้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ 19 สายพันธุ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา 20 สายพันธุ์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี 5 สายพันธุ์ สบู่ดำทั้ง 44 สายพันธุ์ มีลักษณะสัณฐานวิทยาคล้ายคลึงกัน ได้แก่ สีลำต้นสีใบ รูปร่างใบ สีก้านใบ สีผล สีเมล็ด และรูปร่างเมล็ด ส่วนรูปร่างผลในสายพันธุ์ K 1, K 4 และ K 5 เป็นรูปไข่กลับ ต่างจากสายพันธุ์อื่นที่รูปร่างค่อนข้างกลม สบู่ดำสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตรวม 4 ปี สูงที่สุด คือ สายพันธุ์ลาว ให้ผลผลิต 663.68 กก./ไร่ มีน้ำหนัก 100 เมล็ด 65.66 กรัม รองลงมา คือ สายพันธุ์ อินเดีย ดอยสะเก็ด 1 C 1 และ Check 1 ให้ผลผลิต 575.34 533.73 519.26 และ 518.30 กก./ไร่ ตามลำดับ มีน้ำหนัก 100 เมล็ด 67.34 64.07 62.47 และ 56.16 กรัม ตามลำดับ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี ดำเนินการในปี 2554 - 2556 โดยคัดเลือกพันธุ์สบู่ดำที่มีปริมาณสารพิษ phorbol esters น้อย ที่น้ำเข้าจากประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีปริมาณสารพิษ phorbol esters ระหว่าง 0.02 - 0.08 มก./ก. ได้จำนวน 44 สายพันธุ์ สบู่ดำสายพันธุ์ที่มีปริมาณสารพิษ phorbol esters น้อย และให้ผลผลิตรวม 2 ปี สูง มี 7 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ W 5 มีปริมาณสารพิษ phorbol esters 0.01 mg/g ให้ผลผลิตรวม 2 ปี 168.50 กก./ไร่ รองลงมา คือ สายพันธุ์ J 14, H 10, J 15, J 18, J 45 และ J 17 มีปริมาณสารพิษ phorbol esters 0.01, 0.02, 0.03, 0.05, 0.05 และ 0.05 mg/g ตามลำดับ ให้ผลผลิตรวม 2 ปี 128.34 163.31 128.74 148.56 148.35 และ 121.47 กก./ไร่ ตามลำดับ ส่วนการปรียบเทียบพันธุ์สบู่ดำ เพื่อให้ได้สายพันธุ์สบู่ดำที่ให้ผลผลิตสูง ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2558 พบว่า สบู่ดำสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น คือ สายพันธุ์ 18/36 ให้ผลผลิตรวม 2 ปี สูงสุด 55.7 กก./ไร่ รองลงมา คือ สายพันธุ์ GB 07-4 และ B 34 ให้ผลผลิต 55.3 และ 53.2 กก./ไร่ ตามลำดับ สบู่ดำสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง คือ สายพันธุ์ D 1 ให้ผลผลิตรวม 2 ปี สูงสุด 47.1 กก./ไร่ รองลงมา คือ พันธุ์พื้นเมือง และสายพันธุ์ A 34 ให้ผลผลิต 45.2 และ 41.9 กก./ไร่ ตามลำดับ สบู่ดำสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี สบู่ดำสายพันธุ์ที่ คือ สายพันธุ์ 18/36 ให้ผลผลิตรวม 2 ปี สูงสุด 150 กก./ไร่ รองลงมา คือ สายพันธุ์ B 34 และพื้นเมือง ให้ผลผลิต 138.7 และ 130.3 กก./ไร่ ตามลำดับ สบู่ดำสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ คือ สายพันธุ์ D 1 ให้ผลผลิตรวม 2 ปี สูงสุด 30.4 กก./ไร่ รองลงมา คือ สายพันธุ์ B 04-03 และ B 34 ให้ผลผลิต 28 และ 23.2 กก./ไร่ ตามลำดับ สบู่ดำสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร คือ สายพันธุ์ ให้ผลผลิตรวม 2 ปี สูงสุด พื้นเมือง 33.4 กก./ไร่ รองลงมา คือ สายพันธุ์ A 34 และ B 04-03 ให้ผลผลิต 29.6 และ 25 กก./ไร่ ตามลำดับ |