คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ของพืชอนุรักษ์ก่อนการออกหนังสืออนุญาตส่งออก - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: การวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ของพืชอนุรักษ์ก่อนการออกหนังสืออนุญาตส่งออก (/showthread.php?tid=2102)



การวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ของพืชอนุรักษ์ก่อนการออกหนังสืออนุญาตส่งออก - doa - 12-02-2016

การวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ของพืชอนุรักษ์ก่อนการออกหนังสืออนุญาตส่งออก
ดวงเดือน ศรีโพทา, สุมาลี ทองดอนแอ, ยอดหญิง สอนสุภาพ, ปวีณา ทะรักษา และพรเทพ ท้วมสมบูรณ์

          การเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรืออนุสัญญาไซเตส ประเทศไทยได้นำเอาพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 มาปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ โดยกำหนดให้พืชที่อนุสัญญาไซเตสมีการควบคุมการค้าเป็นพืชอนุรักษ์ โดยมีการกำหนดให้การนำเข้า ส่งออก และนำผ่าน จะต้องได้รับหนังสืออนุญาต ไซเตสจากกรมวิชาการเกษตร และในอนุสัญญาไซเตสได้มีข้อกำหนดให้ประเทศผู้ส่งออกต้องมีการศึกษาและประเมินสถานภาพของชนิดพันธุ์ที่จะส่งออกเพื่อให้แน่ใจว่าการออกหนังสืออนุญาตส่งออกชนิดพันธุ์จะต้องมีผลกระทบเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ดังกล่าวในธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า Non-detriment finding (NDF)

          การจัดทำ NDF จะต้องศึกษาจากเอกสารและสำรวจชนิดพันธุ์ในธรรมชาติ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางด้านชีววิทยา สถานภาพของพืชในประเทศ การบริหารจัดการด้านการเก็บเกี่ยว การควบคุมดูแลการเก็บเกี่ยว การติดตามและตรวจสอบการเก็บเกี่ยว ปัจจัยที่เอื้อให้มีการใช้ประโยชน์จากชนิดพันธุ์พืชและมาตรการในการป้องกันการเก็บเกี่ยวที่มากจนเกินไป โดยดำเนินการศึกษากับพืชอนุรักษ์จำนวน 14 ชนิด 4 กลุ่มพืช ได้แก่ สกุลกฤษณา (Aquilaria spp.) จำนวน 2 ชนิด ปรงนา (Cycas siamensis) เฟินลูกไก่ (Cibotium barometz) และกล้วยไม้อีก 10 ชนิด ได้แก่ ว่านเพชรหึง (Grammatophyllum speciosum) เอื้องเขาพระวิหาร (Vandopsis lissochiloides) และกล้วยไม้สกุลเอื้องกุหลาย อีก 8 ชนิด (Aerides spp.)

          ผลจากการศึกษาพบว่า พืชอนุรักษ์ทั้ง 14 ชนิดมีการใช้ประโยชน์ทางการค้า แต่มีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ รูปแบบทางชีววิทยาของกฤษณา และปรงที่เป็นพืชมีอายุหลายปี มีการเจริญเติบโตช้า เอื้องเขาพระวิหารมีการกระจายพันธุ์แคบและขาดออกจากกัน พบได้ยาก ปรงนาและเฟินลูกไก่ถูกคุกคามเนื่องจากการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ส่วนกล้วยไม้สกุลเอื้องกุหลาบมีการเก็บออกมาจากธรรมชาติในระดับปานกลางถึงจำนวนมากขึ้นอยู่กับความสวยงามของดอก ในแต่ละชนิดพันธุ์พืชอนุรักษ์ที่ดำเนินการศึกษามีการควบคุมการเกี่ยวที่เหมาะสมในระดับปานกลาง แต่ในพื้นที่ส่วนบุคคลไม่มีการควบคุม เนื่องจากพืชอนุรักษ์ที่ดำเนินการศึกษาโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ การเข้าถึงได้ยาก ทำให้ขาดข้อมูลทางชีวิทยา ในเรื่องความสามารถในการสืบพันธุ์ และการอยู่รอดของต้นอ่อนในสภาพธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถประเมินผลออกมาว่าพืชอนุรักษ์ที่ดำเนินการศึกษาได้รับผลกระทบจากการเก็บเกี่ยวออกจากธรรมชาติเพื่อทำการค้า โดยมีปัจจัยอื่นช่วยเสริมให้มีการสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นก่อนการออกหนังสืออนุญาตส่งออก จะต้องแน่ใจวาชนิดพันธุ์ที่ส่งออกได้มาจากการขยายพันธุ์เทียม และต้องขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์กับกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากประเทศไทยมีเทคโนโลยีในการขยายพันธุ์เทียมได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชในกลุ่มกล้วยไม้ สำหรับกฤษณา ควรมีการจัดทำแผนหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูประชากรกฤษณาในธรรมชาติ สำหรับปรงนา เนื่องจากถิ่นที่อยู่ถูกทำลาย ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์การส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนนอกถิ่นที่อยู่ ด้วยการอนุญาตให้ส่งออกชนิดพันธุ์ที่ได้มาจากธรรมชาติ ส่วนเฟินลูกไก่ทองควรมีการส่งเสริมให้มีการขยายพันธุ์เทียมเฟินลูกไก่ทองจากสปอร์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมกับจัดสร้างเครือข่ายชุมชนและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์เฟินลูกไก่ทอง