คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การจัดการคุณภาพผลิตผลสดหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการส่งออก - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: การจัดการคุณภาพผลิตผลสดหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการส่งออก (/showthread.php?tid=2096)



การจัดการคุณภาพผลิตผลสดหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการส่งออก - doa - 12-01-2016

การจัดการคุณภาพผลิตผลสดหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการส่งออก
ภาณุมาศ โคตรพงศ์, เบญจมาส รัตนชินกร, คมจันทร์ สรงจันทร์, ปรางค์ทอง กวานห้อง และศิรกานต์ ศรีธัญรัตน์

          การจัดการคุณภาพผลิตผลสดหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการส่งออกเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาคุณภาพผลิตผลสดให้ใกล้เคียงกับวันเก็บเกี่ยวมากที่สุดเพื่อให้ผู้บริโภคได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ดังนี้จึงต้องมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวในกระบวนการจัดการดังกล่าว เช่น การจัดการอุณหภูมิที่เหมาะสม การเก็บรักษาในสภาพบรรยากาศดัดแปลง การใช้สารเคลือบผิว การใช้สารดูดซับเอทิลีน การใช้สารยับยั้งเอทิลีน การจัดการระบบการขนส่ง การควบคุมสภาพบรรยากาศ การประเมินการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในระหว่างการเก็บรักษา การบรรจุภัณฑ์ การประเมินคุณภาพโดยการไม่ทำลายตัวอย่าง และการผลิตผักและผลไม้ตัดแต่งพร้อมบริโภค เป็นต้น

          การจัดการคุณภาพผลิตผลสดหลังการเก็บเกี่ยวทำให้ได้เทคโนโลยีที่ช่วยในรักษาคุณภาพผลิตผลสด ได้แก่ การใช้ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิด PP และ PE สามารถทดแทนการใช้ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิด LDPE เพื่อลดต้นทุนในการบรรจุภัณฑ์ในการขนส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ การใช้สารเคลือบผิวชนิด OPE ในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ ยังเป็นสารเคลือบผิวที่เหมาะสมในการยืดอายุการเก็บรักษามะม่วง การให้ CO2 ความเข้มข้นสูงร่วมกับการเก็บรักษาในฟิล์มบรรจุภัณฑ์แก่ผลมะม่วงและลองกองสามารถเก็บรักษาได้นาน 21 วัน ในการยืดอายุการเก็บรักษามะม่วง แต่ยังไม่ได้ผลชัดเจนในลองกองการใช้ 1-MCP ร่วมกับการบรรจุมะม่วงโดยการหุ้มด้วยฟิล์มยืด PVC หรือถุง PE เจาะรู สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานถึง 37 วัน โดยคุณภาพยังเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค การศึกษาอัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีน และศึกษาผลของอุณหภูมิต่อคุณภาพของผักและผลไม้ 22 ชนิด สามารถนำไปใช้ในการประเมินคุณภาพและข้อมูลในการยยืดอายุการเก็บรักษาได้ ส่วนการจัดการคุณภาพและอุณหภูมิของมังคุดที่ขนส่งทางอากาศไปประเทศออสเตรเลียพบว่า การบรรจุมังคุดในกล่องกระดาษลูกฟูกโดยตรงทำให้กล่องกระดาษลูกฟูกเปียกชื้นและภายในตู้โหลดพบไอน้ำเกาะรอบๆ ตู้ มังคุดที่เก็บในถุง PE เจาะรูและไม่เจาะรู รักษาความสดของมังคุดได้ดีกว่ามังคุดที่ไม่บรรจุถุง เมื่อทดสอบการวางจำหน่ายที่อุณหภูมิ 5-15 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นานประมาณ 7 วัน โดยการเก็บมังคุดในถุง PE หรือ PP เจาะรู จะช่วยรักษาความสดของมังคุดได้ ในการตรวจสอบคุณภาพแบบไม่ทำลายในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 มะม่วงพันธุ์มหาชนก ฝรั่งพันธุ์กิมจู ฝรั่งพันธุ์แป้นสีทอง โดยใช้เครื่องวัดNIR แบบพกพาวัดการสะท้อนของแสงช่วงคลื่นสั้นระหว่าง 700 - 1100 นาโนเมตร กับผลไม้สามารถนำมาเทคนิค NIR มาใช้ในการทำนายคุณภาพได้ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสามารถเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผักตัดแต่งพร้อมบริโภคบางชนิด ได้แก่ มะเขือเปราะ ผักสลัดกรีนคอส บัตเตอร์เฮด และผลไม้ตัดแต่งพร้อมบริโภคบางชนิด ได้แก่ กล้วยหอม สับปะรดพันธุ์ภูแล ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มะม่วงสุกพันธุ์น้ำดอกไม้ และมะม่วงดิบพันธุ์เขียวเสวย

          ดังนั้นจากการวิจัยดังกล่าวสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในการการจัดการคุณภาพผลิตผลสดหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพผลิตผลและลดต้นทุนในการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ