คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ (/showthread.php?tid=2093)



พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ - doa - 11-30-2016

พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์
อำไพ สินพัฒนานนท์

          กระทือกำลังได้รับความนิยมเป็นไม้ตัดดอก ขยายพันธุ์โดยวิธีแยกหน่อ ทำให้ขยายพันธุ์ได้ช้าและมีความหลากหลายน้อย  การศึกษาการขยายพันธุ์กระทือโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยระบบเทมโพรารีไบโอรีแอคเตอร์ จะสามารถขยายพันธุ์กระทือได้เป็นจำนวนมากเชิงพาณิชย์  และเพิ่มฐานพันธุกรรมโดยใช้รังสีแกมมาสร้างต้นกระทือกลายพันธุ์  ดำเนินการศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกระทือพบว่า  ตาจากลำต้นเทียมของกระทือ  Zingiber zerumbet Smith และกระทือพิลาส  Zingiber spectabile Griff. สามารถเจริญเติบโตเป็นยอดและรากได้บนอาหารสูตร  MS ที่เติมและไม่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตทุกสูตรที่ศึกษา ได้ศึกษาการเพาะเลี้ยงด้วยระบบเทมโพรารีไบโอรีแอคเตอร์ โดยมีระยะเวลาของการให้อาหารเหลว  6 ระดับ และจำนวนครั้งในการให้  2 ระดับ ชิ้นส่วนกระทือมีการเจริญเติบโตในทุกสิ่งทดลอง แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ผลทางสถิติได้เนื่องจากเกิดข้อมูลเสียหาย เมื่อย้ายออกปลูกลงดินมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง  89.74 – 100 เปอร์เซ็นต์ ต้นแข็งแรงสมบูรณ์ ส่วนการชักนำให้กระทือที่เพาะเลี้ยงเกิดการกลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมาแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลัน  พบกระทือที่ได้รับรังสีเกิดลักษณะผิดไปจากปกติหลายลักษณะตรวจสอบการกลายพันธุ์ระดับพลอยดิด้วยเครื่องโฟลไซโทรมิเตอร์ และตรวจสอบการกลายพันธุ์ระดับดิพลอยด์ด้วยวิธีทางชีวโมเลกุล พบว่ากระทือพิลาสได้รับรังสีแกมมาแบบเรื้อรัง  5 Krad ที่เกิดใบบิดลายเป็นต้นกลายพันธุ์ โดยให้รูปแบบแถบดีเอ็นเอแตกต่างกับกระทือปกติ เมื่อใช้ไพรเมอร์ชนิด RAPD ที่มีลำดับเบส 5' AGACGGCTCC 3'

          ศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อยางพาราและศึกษาเทคนิคการปลูกถ่ายยีน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างยางพาราดัดแปลงพันธุ์ พบว่าอาหารสูตร  MSm1 เติม  NAA ความเข้มข้น  1.0 - 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร สามารถเพาะเลี้ยงอับละอองเกสรได้ดีและเมื่อเพิ่มความเข้มข้นของ  NAA เป็น  2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร แคลลัสที่ได้มีคุณภาพดีขึ้นแต่ปริมาณการสร้างแคลลัสลดลง จากการตัดข้อของต้นกล้ายางที่เพาะเมล็ดในหลอดทดลองมาเพาะเลี้ยงบนอาหารสูตร MH เติม  GA3 ความเข้มข้น  10 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมด้วย BA ความเข้มข้น  1 มิลลิกรัมต่อลิตร และ  NAA ความเข้มข้น  0.50 มิลลิกรัมต่อลิตร ที่มีความเป็นกรดด่างของอาหาร  5.8 เป็นเวลา 8 สัปดาห์ มีการเกิดยอดของชิ้นส่วนพืชเฉลี่ยสูงสุด จำนวนการสร้างยอดเฉลี่ยสูงสุด ความยาวยอดเฉลี่ยสูงสุด และอาหารที่มีค่าความเป็นกรดด่าง 6.5 มีขนาดยอดเฉลี่ยสูงสุด  การถ่ายฝากยีนเข้าสู่เนื้อเยื่อเปลือกหุ้มเมล็ดชั้นในของยางพันธุ์ RRIM600 โดยใช้ Agrobacterium tumefaciens สายพันธุ์ EHA105 ที่มีพลาสมิด pCAM1304 ซึ่งมียีน gus เป็นยีนรายงานผล พบว่าการใช้ความเข้มข้นของเชื้อ  OD600 = 0.6 และปลูกเชื้อนาน 1 วินาที ให้ประสิทธิภาพของการถ่ายยีนสูงที่สุด ระยะเวลาในการเลี้ยงร่วมกับ  Agrobacterium tumefaciens ที่เหมาะสม คือ  3 - 5 วัน การกำจัดเชื้อ Agrobacterium tumefaciens บนอาหารที่เติม Cefotaxime 200 - 400 มิลลิกรัมต่อลิตร สามารถกำจัดเชื้อได้ดี ความเข้มข้นของ  Kanamycin ที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้คัดเลือกแคลลัสภายหลังการถ่ายยีน คือ 150 มิลลิกรัมต่อลิตร