การพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบพืช GMOs เพื่อรับรองสินค้าเกษตร - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28) +--- เรื่อง: การพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบพืช GMOs เพื่อรับรองสินค้าเกษตร (/showthread.php?tid=2092) |
การพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบพืช GMOs เพื่อรับรองสินค้าเกษตร - doa - 11-30-2016 การพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบพืช GMOs เพื่อรับรองสินค้าเกษตร ขนิษฐา วงศ์วัฒนารัตน์ ปัจจุบันประเทศไทยได้เปิดเขตการค้าเสรีกับต่างประเทศและหลายประเทศมีกฎระเบียบการติดฉลากพืชดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนพืช GMOs ในสินค้าเกษตรเพื่อการนำเข้าและส่งออก จึงเกิดโครงการวิจัยการพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบพืช GMOs เพื่อรับรองสินค้าเกษตรขึ้น โดยได้ทดสอบความใช้ได้ของวิธีการตรวจวิเคราะห์ถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมทั้ง 10 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ถั่วเหลือง GTS 40-3-2 1 สายพันธุ์ ข้าวโพด 9 สายพันธุ์ ได้แก่ Mon 810, Bt176, Bt11, Mon863, NK603, GA21, TC1507, CBH351 และ T25 (LOD, LOQ : 0.05%-0.5%) การทดสอบความใช้ได้ของวิธีการตรวจวิเคราะห์ถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม MON89788, 356043 และ 305423 (LOQ : 0.1%, 0.5%, 0.5% และ LOD : 0.05%, 0.5%, 0.1%) และการทดสอบความใช้ได้ของวิธีการตรวจวิเคราะห์ข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม Mon 88017, Mon89034, MIR604 และ MIR162 (LOD : 0.1%) ด้วยวิธี Real-time PCR เชิงคุณภาพและปริมาณพบว่า ทุกวิธีมีค่าความแม่นและความเที่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ทั้งมีการพัฒนาชุดตรวจสอบแบบรวดเร็วสำหรับโปรตีนข้าวดัดแปรพันธุกรรม Bt63, โปรตีน CP4EPSPS ในข้าวโพดต้านทานสารกำจัดวัชพืช Roundup Ready, โปรตีน CryIAb ในข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม, และโปรตีน Cry9C ในข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม โดยสังเคราะห์ยีน EPSPS, NK603, Cry1Ab และ CRY9C เพื่อผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนใช้เป็นแอนติเจนเพื่อผลิตแอนติบอดีในสัตว์ทดลองที่จำเพาะกับโปรตีนในข้าวและข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม เตรียม Gold-conjugated IgG พ่นที่ conjugated release pad ใช้ goat anti-rabbit (GAR) ทำ control line และใช้ IgG ที่จำเพาะต่อโปรตีนที่ผลิตขึ้นเองทำ test line พบว่าชุดตรวจสอบทั้ง 4 มีความไวที่ปริมาณโปรตีนต่ำสุด ที่ 0.0625 μg/ml, 0.3 μg/ml, 0.03 μg/ml และ 0.01 μg/ml ตามลำดับ และตรวจสอบได้ภายในเวลา 5 - 20 นาที ทั้งยังได้ผลิตโปรตีนมาตรฐานเพื่อพัฒนาชุดตรวจสอบ ELISA Kit ของถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ โดยผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีน EPSPS ในเซลล์ E. coli ทำบริสุทธิ์โปรตีน EPSPS ด้วย Ni-NTA เพื่อใช้เป็นแอนติเจนกระตุ้นสัตว์ทดลองให้ผลิตแอนติบอดีที่จำเพาะเจาะจง และทดสอบทำแห้งโปรตีนแบบเยือกแข็ง แล้วทดสอบความใช้ได้ของแอนติบอดีต่อโปรตีนด้วยวิธี ELISA พบว่าแอนติบอดีมีความจำเพาะเจาะจงต่อโปรตีน EPSPS ในตัวอย่างถั่วเหลืองสด โปรตีน EPSPS บริสุทธิ์ และตัวอย่างโปรตีน EPSPS ที่ผ่านกระบวนการทำแห้งแบบเยือกแข็ง สอดคล้องกับชุดตรวจสอบทางการค้า (Agdia ELISA kit) รวมทั้งมีการสร้างดีเอ็นเอมาตรฐานเพื่อการตรวจวิเคราะห์มะละกอดัดแปรพันธุกรรม โดยสร้างชุดยีนสามชุดที่ประกอบด้วยยีน CaMV35S, gus, nos และยีน papain ที่เหมือนกัน แต่ต่างกันในส่วนของยีน cp ที่คัดแยกสายพันธุ์มะละกอดัดแปรพันธุกรรมได้ คือ สายพันธุ์กรมวิชาการเกษตร (cp-DOA) สายพันธุ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (cp_SC) และสายพันธุ์ฮาวาย หรือ line 55-1 (cp_Hawaii) พันธุกรรม ด้วยวิธี Real-time PCR โดยค่า LOD ของดีเอ็นเอมาตรฐานทั้ง 3 ชุด อยู่ระหว่าง 25 - 250 ชุด (copies) จะเห็นได้ว่าทุกเทคนิคที่พัฒนาขึ้นได้มาตรฐานในการตรวจสอบพืช GMOs ทั้งสำหรับห้องปฏิบัติการและภาคสนาม
|