คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มจี๊ด (Citrus mitis Blanco.) ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มจี๊ด (Citrus mitis Blanco.) ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก (/showthread.php?tid=2065)



วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มจี๊ด (Citrus mitis Blanco.) ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก - doa - 11-28-2016

วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มจี๊ด (Citrus mitis Blanco.) ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก
หฤทัย แก่นลา, กมลภัทร ศิริพงษ์, สุชาดา ศรีบุญเรือง, จรีรัตน์ มีพืชน์, สาลี่ ชินสถิต, ชูชาติ วัฒนวรรณ, วิมลวรรณ วัฒนวิจิตร, ประยูร เอ็นมาก, ศิริพร เต็งรัง, โกเมศ สัตยาวุธ, บุณฑริกา สุมะนา, วรัญญา โนนม่วง, สุภร พงษ์สำราญ และวรรณศิริ หิรัญเกิด
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี, กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี

          การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มจี๊ดในพื้นที่ภาคตะวันออก มีวัตถุประสงค์เพื่อหาเทคโนโลยีในการผลิต การแปรรูปและการนำส้มจี๊ดไปใช้ประโยชน์ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก ระหว่างปี 2555 - 2557 มี 2 การทดลอง ดังนี้ การทดลองที่ 1 วิจัยและพัฒนาการผลิตส้มจี๊ดในพื้นที่ภาคตะวันออก ประกอบด้วย 4 การทดลองย่อย คือ 1.1) ศึกษาระยะปลูกที่เหมาะสมของส้มจี๊ด โดยเปรียบเทียบระยะปลูก 4 ระยะ คือ 1.5x1.5 2x2 2.5x2.5 และ 3x3 เมตร 1.2) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการออกดอก 4 วิธี คือ ไม่มีการใส่ปุ๋ย, ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 10 กิโลกรัม/ต้น, ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 อัตรา 300 กรัม/ต้น และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 300 กรัม/ต้น 1.3) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการชักนำออกดอก 3 วิธี คือ ไม่มีการชักนำ, งดให้น้ำ และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 300 กรัม/ต้น ร่วมกับการงดให้น้ำ 1.4) วิจัยและพัฒนาการจัดการปุ๋ยในระยะติดผลเพื่อเพิ่มผลผลิต 4 วิธี คือ ไม่มีการใส่ปุ๋ย, ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 10 กิโลกรัม/ต้น, ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 อัตรา 300 กรัม/ต้น และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 300 กรัม/ต้น วางแผนการทดลองแบบ RCB 3 ซ้ำ ทุกการทดลอง ยกเว้นการทดลองย่อย 1.3 มี 4 ซ้ำ ผลการทดลองเมื่อเฉลี่ยทั้ง 3 ปี ด้านระยะปลูกพบว่า ส้มจี๊ดที่ใช้ระยะปลูก 3x3 เมตร มีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีอื่น โดยมีขนาดทรงพุ่มเฉลี่ย 134.9 เซนติเมตร ให้ผลผลิตเฉลี่ย 194.1 ผล/ต้น แต่ละผลมีน้ำหนักเฉลี่ย 19.3 กรัม และมีผลผลิต/ไร่ น้อยที่สุดเฉลี่ย 698.5 กิโลกรัม เนื่องจากมีจำนวนต้น/ไร่น้อยกว่ากรรมวิธีอื่น แต่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด 12,817 บาท/ไร่ ขณะที่ระยะปลูก 1.5x1.5 เมตร ให้ผลผลิต/ไร่มากที่สุดเฉลี่ย 1,515.4 กิโลกรัม แต่มีต้นทุนการผลิตสูงสุด 32,210 บาท/ไร่ ผลการทดลองด้านการเตรียมต้นให้พร้อมออกดอก พบว่า ส้มจี๊ดที่ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 มีการเจริญเติบโต ปริมาณดอก และผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีอื่น โดยมีขนาดทรงพุ่มเฉลี่ย 147.8 เซนติเมตร จำนวนดอกเฉลี่ย 116.6 ดอก/ต้น ให้ผลผลิตเฉลี่ย 93.5 ผล/ต้น และมีผลผลิต/ไร่มากที่สุดเฉลี่ย 1,094.8 กิโลกรัม ขณะที่น้ำหนัก/ผลเฉลี่ยไม่แตกต่างจากกรรมวิธีอื่น ผลการทดลองด้านการชักนำให้ออกดอกพบว่า ส้มจี๊ดที่มีการชักนำให้ออกดอกด้วยกรรมวิธีต่างๆ มีการเจริญเติบโตด้านทรงพุ่มไม่แตกต่างกัน แต่ต้นที่ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 ร่วมกับงดน้ำ มีปริมาณดอกและผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีอื่น โดยมีจำนวนดอกเฉลี่ย 95.8 ดอก/ต้น ให้ผลผลิตเฉลี่ย 81.6 ผล/ต้น และมีผลผลิต/ไร่มากที่สุดเฉลี่ย 927.6 กิโลกรัม ขณะที่น้ำหนัก/ผลเฉลี่ยไม่แตกต่างจากกรรมวิธีอื่น ผลการทดลองด้านการจัดการปุ๋ยในระยะติดผลเพื่อเพิ่มผลผลิตพบว่า ส้มจี๊ดที่มีการจัดการปุ๋ยในระยะติดผลเพื่อเพิ่มผลผลิตด้วยกรรมวิธีต่างๆ มีการเจริญเติบโตด้านทรงพุ่มไม่แตกต่างกัน แต่ต้นที่ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 มีปริมาณผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีอื่น โดยเฉลี่ย 109.2 ผล/ต้น และมีผลผลิต/ไร่ มากที่สุดเฉลี่ย 661.4 กิโลกรัม ขณะที่น้ำหนัก/ผลเฉลี่ยไม่แตกต่างจากกรรมวิธีอื่น

          การทดลองที่ 2 การศึกษากรรมวิธีการแปรรูปและการใช้ประโยชน์จากส้มจี๊ด 2.1) การศึกษากรรมวิธีแปรรูปส้มจี๊ด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มี 7 รูปแบบ ได้แก่ น้ำส้มจี๊ดพร้อมดื่ม แยมส้มจี๊ด มาร์มาเลดส้มจี๊ด เยลลี่ส้มจี๊ด ส้มจี๊ดแช่อิ่มอบแห้ง ไอศกรีมเชอร์เบทส้มจี๊ด และเค้กส้มจี๊ด ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ใช้ผู้ทดสอบ 30 ราย ผลิตภัณฑ์ที่มีคะแนนความชอบโดยรวมมากที่สุดใช้ส้มจี๊ดเป็นส่วนผสมดังนี้ น้ำส้มจี๊ดพร้อมดื่ม ใช้น้ำส้มจี๊ด 120 กรัมต่อน้ำ 750 กรัม และฆ่าเชื้อแบบสเตอริไรส์ที่ 100 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที แยมส้มจี๊ด ใช้น้ำส้มจี๊ด 600 กรัมต่อน้ำ 1,200 กรัม และปริมาณเพคตินร้อยละ 0.75 ของส่วนผสมทั้งหมด มาร์มาเลดส้มจี๊ด ใช้เปลือกส้มจี๊ด 300 กรัม ต่อน้ำเชื่อม 1,000 กรัม ที่มีความเข้มข้นเท่ากับ 35 องศาบริกซ์ ในการแช่อิ่มเปลือกส้มจี๊ดเพื่อทำมาร์มาเลด เยลลี่ส้มจี๊ด ใช้น้ำส้มจี๊ด 300 กรัมต่อน้ำ 1,350 กรัม และปริมาณคาราจีแนน ร้อยละ 1.5 ของส่วนผสมทั้งหมด ส้มจี๊ดแช่อิ่มอบแห้ง ใช้ส้มจี๊ด 4,000 กรัมต่อน้ำ 2,200 กรัม น้ำตาลทราย 1,800 กรัม แช่อิ่มแบบช้าประมาณ 5-6 วัน อบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 5 ชั่วโมง ไอศกรีมเชอร์เบทส้มจี๊ด ใช้น้ำส้มจี๊ดร้อยละ 50 และเติมเจลาตินร้อยละ 0.5 ของส่วนผสมไอศกรีม และเค้กส้มจี๊ด ใช้น้ำส้มจี๊ด 75 กรัม เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เค้กส้มจี๊ด 2.2) การสกัดลิโมนินและเพคตินจากเปลือกส้มจี๊ดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์พบว่า การสกัดลิโมนินจากเปลือกส้มจี๊ดทำได้โดยการกลั่นด้วยน้ำ เปลือกส้มจี๊ดมี dl-limonene เป็นองค์ประกอบหลัก และสารเทอร์พีนต่างๆ เป็นองค์ประกอบย่อย การสกัดเพคตินจากเปลือกส้มจี๊ดทำได้โดยการต้มกับการสารละลายกรดไฮโดรคลอริกความเข้มข้น 0.3 M แล้วตกตะกอนเพคตินด้วยเอธานอล 95% ล้างกากเปลือกส้มจี๊ดด้วยเอทานอลก่อนการสกัด และล้างตะกอนเพคตินที่ได้ด้วยเอทานอล 4 ครั้ง จะได้เพคตินจากเปลือกส้มจี๊ดที่มีปริมาณเมทอกซิลเฉลี่ยร้อยละ 5.58 โดยจัดอยู่ในกลุ่ม low methoxyl pectins เมื่อนำสารสกัด ลิโมนินจากเปลือกส้มจี๊ดมาพัฒนาเป็นสเปรย์น้ำไล่ยุงนั้น พบว่าไม่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง เนื่องจากไม่สามารถติดที่ผิวหนังนานกว่า 3 ชั่วโมงได้ แต่พัฒนาเป็นโลชั่นไล่ยุงได้ และเมื่อนำเพคตินจากเปลือกส้มจี๊ดมาพัฒนาเป็นสารก่อเจลในเจลน้ำหอมปรับอากาศ สามารถใช้เพคตินร้อยละ 3 ร่วมกับ sodium polyacrylate ร้อยละ 1 ในน้ำปูนใส พัฒนาเป็นเจลน้ำหอมปรับอากาศที่มีระดับความแรงของกลิ่นในระดับที่ยอมรับได้นาน 10 วัน