คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตห้อมในพื้นที่จังหวัดแพร่ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตห้อมในพื้นที่จังหวัดแพร่ (/showthread.php?tid=2056)



การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตห้อมในพื้นที่จังหวัดแพร่ - doa - 11-28-2016

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตห้อมในพื้นที่จังหวัดแพร่
ประนอม ใจอ้าย, วิภาดา แสงสร้อย, มณทิรา ภูติวรนาถ, สุทธินี เจริญคิด, พรรณพิมล สุริยะพรหมชัย, รณรงค์ คนชม และวิทยา อภัย
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1

          โครงการวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาเทคโนโลยีเหมาะสมกับพื้นที่ ในการเพิ่มผลผลิตห้อมและรายได้ของเกษตรกรในจังหวัดแพร่ การวิจัยดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ระหว่างปี 2557 - 2558 ผลการศึกษาพบว่า ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับห้อม คือ 50 x 60 เซนติเมตร ซึ่งให้ผลผลิตใบห้อมสด 1,266 กิโลกรัมต่อไร่และเนื้อห้อมสด 239 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ระยะปลูกไม่มีผลต่อปริมาณสารอินดิโก้ในเนื้อห้อม ห้อมสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่อต้นอายุ 8 เดือนขึ้นไป ซึ่งให้ผลผลิตใบห้อมสด 2,949 - 4,592 กิโลกรัมต่อไร่ และปริมาณสารอินดิโก้ 1.72 - 2.11% การตัดแต่งกิ่งต้นห้อมไม่ทำให้ผลผลิตใบห้อมสดแตกต่างกันทางสถิติ การพรางแสงโรงเรือนพรางที่ 70% ทำให้ได้เนื้อห้อมสดสูงสุด คือ 238 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่การพรางแสงโรงเรือนที่ 80% ทำให้ได้เนื้อห้อมสดต่ำสุด คือ 42 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวใบห้อมสดไม่มีผลต่อผลผลิตใบห้อมสดซึ่งเท่ากับ 2,687 - 2,951 กิโลกรัมต่อไร่ การเก็บเกี่ยวใบห้อมสดในช่วงเช้าเวลา 07.00 - 08.00 และ 10.00 - 11.00 นาฬิกา ทำให้ได้เนื้อห้อมสด 421 - 463 กิโลกรัมต่อไร่ การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตห้อมตามค้าแนะนำของกรมวิชาการเกษตรโดยเกษตรกรมีส่วนร่วมในจังหวัดแพร่จำนวน 10 ราย พบว่ากรรมวิธีแนะนำให้ผลผลิตใบห้อมสดเฉลี่ย 3,970 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรทำอยู่เดิมซึ่งให้ผลผลิตใบห้อมสดเฉลี่ย 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ กรรมวิธีแนะนำให้ผลตอบแทนหรือรายได้เฉลี่ย 31,668 บาทต่อไร่ ซึ่งสูงกว่ารายได้จากกรรมวิธีเกษตรกรเฉลี่ย 2,760 บาทต่อไร่ ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ตลอดจนช่วยอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมห้อมในจังหวัดแพร่กัน