คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะขามป้อมอย่างมีคุณภาพ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะขามป้อมอย่างมีคุณภาพ (/showthread.php?tid=2049)



โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะขามป้อมอย่างมีคุณภาพ - doa - 11-28-2016

โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะขามป้อมอย่างมีคุณภาพ
วิภาดา แสงสร้อย, ประนอม ใจอ้าย, สุทธินี เจริญคิด, คณิศร มนุษย์สม, สากล มีสุข, อนุรักษ์ สุขขารมย์, สุมาลี สุวรรณบุตร, เสงี่ยม แจ่มจำรูญ, ศรีสุดา โท้ทอง, แสงมณี ชิงดวง, สุนิตรา คามีศักดิ์, จอมใจ ชลาเขต, อนัญญา เอกพันธ์, ไพโรจน์ บุญอ่อน และจำรอง ดาวเรือง
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และสถาบันวิจัยพืชสวน

          พืชพรรณไม้วงศ์ Euphorbiaceae ในประเทศไทย พบทั้งหมด 87 สกุล (genera) 425 ชนิด (species) ที่มีสรรพคุณและประโยชน์ด้านต่างๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ละหุ่ง สบู่ดำ เปล้าน้อย สบู่แดง มันสำปะหลัง มะไฟ มะยม และมะขามป้อม โดยมะขามป้อม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus emblica Linn. (Syn. Emblica officinalis Gaertn.) ชื่ออื่นๆ เช่น Indian gooseberry, Amla, Malacca tree, Emblic myrobalan, aonla, bilimbi madras, officinale และ myrobalan Emblique มะขามป้อมพบได้ตามป่าเขาทั่วไปในแถบเอเชีย จึงเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศไทย จีน อินเดีย เนปาล มาเลเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ และญี่ปุ่น ได้มีการนำเอาส่วนต่างๆ ของมะขามป้อมมาใช้เป็นยารักษาโรค ทั้งส่วนของใบ ลำต้น ราก ผล หรือเปลือกลำต้น มะขามป้อมมีองค์ประกอบทางเคมีทั้งสารประเภทแทนนินและสารประกอบฟีนอลิคซึ่งมีคุณค่าในการนำไปใช้เป็นสมุนไพร (Yang และคณะ, 2012) รวมทั้งยังมีวิตามินซีสูง ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (Scartezzini และคณะ 2006) วิตามินซีจากมะขามป้อมมีประสิทธิภาพเหนือกว่าวิตามินซีจากการสังเคราะห์ประมาณ 12 เท่า วิตามินซีทำหน้าที่จับอนุมูลอิสระในเซลล์ที่เป็นของเหลว ป้องกันเซลล์จากการถูกอนุมูลอิสระทำลาย มะขามป้อมจึงมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและโดดเด่นกว่าผลไม้ชนิดอื่น โดยมีรายงานการศึกษาวิจัยด้านสารออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของมะขามป้อม ได้แก่ ฤทธิ์แก้ไอ ฤทธิ์ยับยั้งการเป็นพิษต่อตับและไต ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ฤทธิ์ป้องกันเซลล์และเพิ่มภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และฤทธิ์ยับยั้งก่อการกลายพันธุ์ คุณสมบัติเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคโลหิตจางโรคตับ และโรคหัวใจ (Dasaroju และ Gottumukkala, 2014; Moazzem Hossen และคณะ 2015) มะขามป้อมใช้ผลิตอาหารเสริม และผลิตภัณฑ์ความงาม ได้มีการนำสารสกัดจากมะขามป้อมหรือมะขามป้อมสดและแห้งมาเป็นองค์ประกอบในเครื่องสำอางและอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์ลิปกลอสไขรำข้าวที่มีส่วนผสมของไลโปโซมและสารสกัดมะขามป้อม (จันทิมา และคณะ 2554) ศึกษาการผลิตน้ำส้มสายชูหมักจากมะขามป้อม (วรรณภา และคณะ 2556) และมีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากมะขามป้อมชุมชนต่างๆ จึงมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการวัตถุดิบสูงในตลาดผลไม้สด และในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนาให้มะขามป้อมมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เช่นเดียวกับในประเทศอินเดีย และศรีลังกา

          ในประเทศไทยมีการใช้มะขามป้อมเป็นส่วนประกอบของตำรับยาพื้นบ้านและยาแผนโบราณ นอกจากจะจำหน่ายในรูปผลสดแล้วยังตากผลแห้งจำหน่ายได้ ขณะนี้ยังขาดวัตถุดิบอีกจำนวนมาก เนื่องจากมะขามป้อม เป็นพืชสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะถูกนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาหลายชนิด ตำรับยา แผนโบราณเก่าแก่ของอินเดียที่ชื่อว่า “ตรีผลา” ประกอบด้วยผลไม้ 3 อย่าง คือ สมอไทย สมอภิเภก และมะขามป้อม มีสรรพคุณชะลอความชรา ช่วยรักษาสมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย และมีฤทธิ์ล้างพิษออกจากระบบต่างๆ ของร่างกาย ตำรับยานี้ใช้มานานกว่า 5,000 ปีแล้ว ในประเทศไทย ผลผลิตมะขามป้อมที่บริโภคกันส่วนใหญ่หรือเรียกได้ว่าทั้งหมดเก็บรวบรวมจากป่าธรรมชาติ การเก็บผลปะปนกันมาจากหลายต้นหลายแหล่ง ทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณหรือคาดเดาปริมาณผลผลิตแต่ละปีได้ และทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพ ไม่ทราบปริมาณสารสำคัญในผล ซึ่งเป็นตัวก าหนดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการนำไปผลิตเป็นอาหารเพื่อสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์ยา

          ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่ามาบริโภคหรือนำมาจำหน่ายเป็นวิถีชีวิตที่ไม่น่าจะยั่งยืน นอกจากจะเสี่ยงต่อการใช้ประโยชน์จากป่าแบบเกินกำลังผลิตแล้ว มีการเก็บเกี่ยวแบบไม่ถูกวิธี เนื่องจากต้นมะขามป้อมในป่าลำต้นสูงมาก ต้องใช้วิธีตัดกิ่งก้านลงมาเพื่อเก็บผล นอกจากนี้ ยังขาดการอนุรักษ์บำรุงรักษา ยังอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และที่สำคัญอาจเสี่ยงต่อความผิดฐานบุกรุกป่าโดยไม่ตั้งใจ การปลูกมะขามป้อมในสภาพสวนจึงเป็นการแก้ปัญหาการทำลายป่า ด้านความต้องการมะขามป้อมเพื่อทำสมุนไพรเป็นการค้า ในปัจจุบันมีมากขึ้นๆ แต่หาซื้อยากและไม่เพียงพอกับความต้องการ จังหวัดแพร่ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นแหล่งที่เหมาะสมในการปลูกมะขามป้อม ที่สำคัญข้อมูลการผลิตต่างๆในประเทศไทยยังมีน้อย เช่น พันธุ์ การจัดการการผลิตที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง และปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรอย่างมีคุณภาพแบบครบวงจรโดยร่วมมือกับคนในชุมชน กลุ่มแพทย์ เภสัชกร โรงพยาบาล เพื่อลดการซื้อยาจากต่างประเทศในการรักษาคนป่วย ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาให้เป็นระบบการผลิตมะขามป้อมอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ดังนั้น จึงมีจำเป็นที่ต้องทำการศึกษาโดยเร่งด่วนเพื่อตอบสนองกับความต้องการในอนาคตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มะขามป้อมพันธุ์ดีในการผลิตมะขามป้อมให้มีปริมาณผลผลิตสูง คุณภาพดี และมีสารสำคัญสูง

          ดำเนินการสำรวจและคัดเลือกสายต้นมะขามป้อมจากแหล่งต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันตก แบบ clonal selection ซึ่งลักษณะที่คัดเลือก ดังนี้ ผลมีขนาดใหญ่ (เส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 2.5 ซม.) ผลผลิตสูง (ไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัมต่อต้น เมื่ออายุ 7 ปี) มีคุณภาพและปริมาณสารสำคัญสูง (มีวิตามินซีไม่น้อยกว่า 250 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี แล้วคัดเลือกสายต้นที่ดีเด่นไปปลูกทดสอบพันธุ์ในแปลงทดลอง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการรับรองพันธุ์ต่อไป

          บันทึกข้อมูล แหล่งที่พบต้นมะขามป้อม การเจริญเติบโต ความสูง ขนาดทรงพุ่ม และองค์ประกอบของผลผลิต (รูปร่างผลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเมล็ด ความหนาเนื้อ น้ำหนักผล และจำนวนผลต่อกก.) และปริมาณสารส้าคัญ ได้แก่ วิตามินซี สารประกอบฟีนอลิค และค่าดัชนีการต้านสารอนุมูลอิสระ

          สถานที่ดำเนินการ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และสถาบันวิจัยพืชสวน ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2555 - 2558