คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกคุณภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกคุณภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (/showthread.php?tid=2039)



การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกคุณภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง - doa - 11-25-2016

การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกคุณภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
พเยาว์ พรหมพันธุ์ใจ, นิรมล ดำพะธิก, สุดารัตน์ โชคแสน และพีชณิตดา ธารานุกูล

          ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างปลูกพริกขี้หนูผลใหญ่ 65,890 ไร่ ผลผลิต 43,112.97 ตัน ผลิตพริก 2 ฤดู คือ ฤดูแล้งช่วงเดือนกรกฎาคม - เมษายน ฤดูฝนช่วงเดือนเมษายนตุลาคม ปลูกพริกในพื้นที่เดิมเป็นเวลานาน ทำให้ความสมดุลของธาตุอาหารลดลง สะสมโรคและแมลงศัตรูมากขึ้น จึงทำให้เกิดการระบาด โรคพริกที่สำคัญ ได้แก่ โรครากปมเกิดจากไส้เดือนฝอย Meloidogyne incognita โรคแอนแทรคโนสเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp. โรคลำต้นไหม้ที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora capcisi โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum โรครากเน่าและโคนเน่า Sclerotium rolfsii และโรคใบหงิกที่เกิดจากเชื้อไวรัส ปัญหาของแมลงศัตรูที่สำคัญ เช่น เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงวันเจาะผลพริก (Bactrocera latifrons Hendel) หนอนเจาะผล ฯลฯ จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในอัตราที่สูงขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดสารพิษตกค้างในผลผลิตพริก แนวทางแก้ไขปัญหา โดยปฏิบัติตามระบบการจัดการคุณภาพ GAP พริก เริ่มตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การจัดการดินโดยการปรับสภาพดินให้เหมาะสม การปลูกพืชบำรุงดิน การใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้น้ำหมักชีวภาพ และใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ การจัดการโรคและแมลงจะมุ่งเน้นวิธีผสมผสานเปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร ทดสอบในพื้นที่ผลิตพริกฤดูแล้งดินร่วนปนทราย จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และร้อยเอ็ด จำนวน 73 ราย และผลิตพริกฤดูฝนดินร่วนเหนียว จังหวัดนครราชสีมา ดินทรายจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 28 ราย ปี 2556 - 2558 มี 2 กรรมวิธี คือ วิธีผสมผสานและวิธีเกษตรกรพบว่า การผลิตพริกแบบผสมผสานในฤดูฝนให้ผลผลิตมากกว่าวิธีเกษตรกร 27.23% มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าวิธีเกษตรกร 2,024 บาท/ไร่ แต่มีรายได้มากกว่าวิธีเกษตรกร 43.27% ในฤดูแล้งให้ผลผลิตมากกว่าวิธีเกษตรกรเพียง 6.09% มีต้นทุนต่ำกว่าวิธีเกษตรกร 3,508 บาท/ไร่ มีรายได้มากกว่าวิธีเกษตรกร 6.07% ผลผลิตพริกฤดูแล้งมากกว่าฤดูฝน 3 เท่า จึงมีรายได้สุทธิมากกว่า 25,000 บาท/ไร่ ถึงแม้พริกฤดูฝนจะขายได้ราคามากกว่าพริกฤดูแล้งเกือบ 2 เท่า ดังนั้นเกษตรกรต้องลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะสารเคมี เนื่องจากการผลิตพริกแบบผสมผสานสามารถแก้ปัญหาโรครากปม โรครากเน่าโคนเน่า แอนแทรคโนส และหนอนเจาะผล บำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีทำให้พริกเจริญเติบโตได้ดีจึงเก็บผลผลิตได้นานขึ้น ผลผลิตปลอดภัย 99% วิธีเกษตรกรปลอดภัย 35% สอดคล้องกับการยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกร ได้กลุ่มเกษตรกรผลิตพริกคุณภาพ 3 กลุ่ม ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี นครราชสีมา และร้อยเอ็ด นำองค์ความรู้การผลิตพริกคุณภาพเผยแพร่ให้เกษตรกรรายอื่นได้ และได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP