คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม (/showthread.php?tid=2027)



โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม - doa - 11-24-2016

โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่
สุวลักษณ์ ชัยชูโชติ, นันทินี ศรีจุมปา, ศิริพร หัสสรังสี, วราพร ไชยมา, ศิรากานต์ ขยันการ, พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล, อนุสรณ์ ทองวิเศษ, สุธามาศ ณ น่าน, ฉัตรสุดา เชิงอักษร, กรกช จันทร, วัชรพล บำเพ็ญอยู่, วิลาสลักษณ์ ว่องไว, รัชฎาภรณ์ ทองเหม, อภิญญา สุราวุธ, สุทธินี ลิขิตตระกูลรุ่ง, สุทธินี เจริญคิด, ลักษมี สุภัทรา, สิริพร มะเจี่ยว, วิภาดา แสงสร้อย, นันทิการ์ เสนแก้ว, อนรรค อุปมาลี, ประนอม ใจอ้าย, ประสพโชค ตันไทย, ปริศนา หาญวิริยะพันธ์, คณิศร มนุษย์สม, บุญพา ชูผอม, สากล มีสุข และอุดร เจริญแสง

          โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่ ดำเนินการที่หน่วยงานส่วนกลาง ศูนย์วิจัยในส่วนภูมิภาค ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 และฟาร์มเพาะเห็ดของเกษตรกรในส่วนภูมิภาค เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2558 มีทั้งหมด 5 กิจกรรม ดังนี้ 1) กิจกรรม: เห็ดขอนขาว มี 1 การทดลอง 2) กิจกรรม: เห็ดลม มี 1 การทดลลอง 3) กิจกรรม: เห็ด Coprinus spp.มี 2 การทดลอง 4) กิจกรรม: เห็ดร่างแห มี 2 การทดลอง และ 2 การทดลองย่อย และ 5) กิจกรรม: เห็ดที่มีศักยภาพ มี 12 การทดลอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม คัดเลือกและประเมินสายพันธุ์เห็ดชนิดต่างๆ ให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพและผลผลิตสูงเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมพันธุ์และประเมินสายพันธุ์ให้ได้เห็ดลูกผสมสายพันธุ์ใหม่เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้ใช้อย่างเหมาะสม อีกทั้งศึกษาและพัฒนาวัสดุเพาะเห็ดให้ได้ข้อมูลใช้แนะนำเกษตรกรให้นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและได้ผล และพัฒนาวิธีการเพาะเห็ดที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และแบบการผลิต รวมทั้งศึกษาการเก็บรักษาเชื้อพันธุ์เห็ดเพื่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ และศึกษาความหลากหลายของเห็ดในธรรมชาติเพื่อเพิ่มความหลากหลายของหน่วยพันธุกรรมสำหรับการศึกษาวิจัย จึงได้ทำการรวบรวม คัดเลือก และประเมินสายพันธุ์เห็ดขอนขาว เห็ดลม เห็ดสกุล Coprinus เห็ดร่างแห เห็ดหูหนูขาว เห็ดลิ้นกวาง เห็ดหอม และเห็ดแครง ปรับปรุงพันธุ์เห็ดภูฏานโดยการผสมพันธุ์ระหว่างเส้นใย นิวเคลียสคู่กับเส้นใยนิวเคลียสเดี่ยวและประเมินสายพันธุ์ ศึกษาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดในเรื่องวัสดุเพาะกับเห็ดต่งฝน และการให้น้ำเพื่อผลิตเห็ดตับเต่าเชิงพาณิชย์ ศึกษาการเก็บรักษาเชื้อพันธุ์ในน้ำกลั่นปลอดเชื้อในเห็ดตีนแรด เห็ด Oudemansiella spp. และเห็ดต่งฝน และ การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดในป่าเต็งรังและป่าสนในเขตจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่และพัฒนาสู่การเพาะเห็ดชนิดที่รับประทานได้

          พบว่า ได้สายพันธุ์เห็ดขอนขาวและเห็ดลมให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงที่สุดที่เหมาะสมกับการเพาะในภาคเหนือตอนบนในแต่ละฤดูกาลฤดูละหนึ่งสายพันธุ์ ได้สายพันธุ์เห็ด Coprinus comatus (O.F.Mull) Gray และชนิดอาหารเลี้ยงเชื้อ อาหารทำเชื้อขยายและวัสดุเพาะที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงเห็ดทั้งในระบบถุงพลาสติกและในตะกร้า ได้สายพันธุ์เห็ดร่างแห ชนิดอาหารเลี้ยงเชื้อ อาหารทำเชื้อขยายและวัสดุเพาะที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงเห็ดให้เกิดดอกได้ทั้งในระบบตะกร้าพลาสติก แปลงปลูกขนาดเล็ก (วงบ่อ) ภายในโรงเรือน และแปลงปลูกแบบอิฐบล็อก (กลางแจ้ง) จากการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนการเพาะเลี้ยงแบบฝังก้อน การเพาะแบบเห็ดฟางกองเตี้ย การเพาะแบบวิธีที่มีรายงานก่อนหน้าซึ่งศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ เส้นใยเห็ดสามารถเจริญเติบโตได้แต่ยังไม่สามารถกระตุ้นให้สร้างดอกเห็ดได้ ทั้งนี้อาจมีสภาพแวดล้อมอื่นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป สามารถแยกเชื้อบริสุทธิ์เห็ดหูหนูขาว และเชื้อรา Hypoxylon sp. และผสมเชื้อสองชนิดเข้าด้วยกันเป็น Mix Mother Culture เป็นเชื้อขยายบนวัสดุทำเชื้อขยาย คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา : รำ : ปูนขาว : ดีเกลือ ความชื้น 65 เปอร์เซ็นต์ได้ แต่การผลิตก้อนเชื้อเห็ดและการกระตุ้นการเกิดดอกยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประสบปัญหามีไรศัตรูเห็ดเข้าทำลายเส้นใยในก้อนวัสดุเพาะ ได้สายพันธุ์เห็ดลิ้นกวางที่เจริญได้ดีที่สุดที่ช่วงอุณหภูมิ 25 - 27°C โดยอาหารที่มีแหล่งคาร์บอนเป็นแมนโนสเส้นใยเห็ดเจริญได้ดีแต่ความต้องการชนิดแหล่งไนโตรเจนจะแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ การใช้เมล็ดข้าวฟุางเป็นอาหารเพื่อทำเชื้อขยายและใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นวัสดุเพาะหลักเส้นใยเห็ดเจริญได้แต่ยังจำเป็นต้องหาความเหมาะสมของอาหารหรือวัสดุเสริมในการทำอาหารเพื่อทำเชื้อขยายหรือเป็นวัสดุเพาะเห็ด รวมทั้งสภาพแวดล้อมด้านอุณหภูมิและแสงสว่างเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างดอก ได้สายพันธุ์เห็ดหอมที่สามารถออกดอกได้ในฤดูหนาว และช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยผลผลิตของเห็ดหอมต่อก้อนที่เปิดดอกในช่วงฤดูหนาวให้ผลผลิตสูงกว่าการเปิดดอกช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน และคุณภาพของเห็ดหอมสายพันธุ์ต่างๆ มีความแตกต่างกันเมื่อเพาะในแต่ละฤดูและภายในฤดูเดียวกันก็มีความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ที่ทดสอบ โดยภาพรวมพบว่าขนาดของก้านเห็ดหอมทุกสายพันธุ์ที่เพาะในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนจะมีขนาดใหญ่กว่าก้านของเห็ดหอมที่เพาะในฤดูหนาว และได้สายพันธุ์เห็ดแครงที่ผ่านการคัดเลือกโดยพิจารณาจากการเจริญเติบโตบนอาหารเลี้ยงเชื้อและลักษณะทางสัณฐานวิทยา และการให้ผลผลิตดีที่สุดเมื่อเพาะทดสอบเปรียบเทียบผลผลิตโดยใช้วัสดุเพาะหลักเป็นขี้เลื่อยไม้ยางพารา : ข้าวฟุาง : รำละเอียด : ปูนขาว และได้สูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเพาะเห็ดแครงในพื้นที่ภาคใต้ด้วย ซึ่งมีส่วนผสมของขี้เลื่อยไม้ยางพารา : ข้าวโพดปุน : ข้าวฟุาง : รำละเอียด : ปูนขาว อัตราส่วน 100 : 20 : 10 : 5 : 1 สำหรับการปรับปรุงพันธุ์เห็ดภูฏานโดยการผสมพันธุ์ระหว่างเส้นใยนิวเคลียสคู่กับเส้นใยนิวเคลียสเดี่ยวและประเมินสายพันธุ์พบว่า จากการนำเห็ดสกุลนางรม 25 สายพันธุ์ ที่เก็บรวบรวมไว้มาเพาะทดสอบเพื่อดูลักษณะทางสัณฐานวิทยาและการให้ผลผลิตบนวัสดุเพาะขี้เลื่อยในถุงพลาสติก เพื่อคัดเลือกทำเส้นใยนิวเคลียสเดี่ยว 268 สายพันธุ์ผสมกับเส้นใยนิวเคลียสคู่ของเห็ดภูฏานเบอร์ 3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ให้บริการของกรมวิชาการเกษตรได้คู่ผสม 18 คู่ผสมที่เส้นใยผสมกันได้ เมื่อนำไปเพาะทดสอบในอาหารเพาะขี้เลื่อย 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูหนาว ฤดูร้อนและฤดูฝน พบว่าเห็ดภูฏานลูกผสมทั้ง 18 สายพันธุ์ออกดอกให้ผลผลิต และมีเห็ดลูกผสม 4 สายพันธุ์ให้ผลผลิตดีกว่าสายพันธุ์เปรียบเทียบโดยมีความแตกต่างทางสถิติ

          ส่วนการศึกษาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดในเรื่องวัสดุเพาะกับเห็ดต่งฝนพบว่า อาหารเพาะเห็ดต่งฝนโดยใช้วัสดุหลักเป็นขี้เลื่อยผสมรำ การใส่ดีเกลือเป็นวัสดุเสริมอัตรา 1% ให้ผลผลิตสูงกว่าที่ 2% สำหรับการใช้ปูนขาวอัตรา 0.5 หรือ 1 หรือ 1.5 % และยิบซั่มอัตรา 1 หรือ 2 หรือ 3% ผสมอาหารเพาะเส้นใยเห็ดต่งฝนเจริญและออกดอกให้ผลผลิตได้ ดังนั้นในการเตรียมอาหารเพาะเห็ดต่งฝนเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าวัสดุอาหารเสริม อัตราดีเกลือเหมาะสมที่ 1% สำหรับการใช้ปูนขาวอัตรา 0.5 หรือ 1 % ก็เพียงพอในการผสมอาหารเพาะเลี้ยงเห็ดให้เกิดดอกได้ และยิบซั่มในอัตรา 1 % ก็ใช้ได้ และการให้น้ำเพื่อผลิตเห็ดตับเต่าเชิงพาณิชย์เขตภาคเหนือ ทดสอบกับต้นพืชอาศัย ได้แก่ มะเกี๋ยง โสน หางนกยูงไทย ชมพู่ มะกอก มะม่วง แค และซ่อนกลิ่น โดยปลูกเชื้อเห็ดตับเต่าให้แก่ต้นพืชอาศัย และมีกรรมวิธีให้น้ำ 2 วิธี คือ 1) ให้น้ำตามแผนการทดสอบ คือ ให้น้ำระบบสปริงเกลอร์แก่ต้นพืชอาศัยในแปลงวันละ 2 ชั่วโมง ติดต่อกัน 3 วัน เพื่อเพิ่มความชื้นให้กับดินโดยรอบระบบรากต้นพืชอาศัย และหยุดการให้น้ำ 5 วัน เพื่อให้ความชื้นในดินบริเวณระบบรากมีการกระจายอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อรักษาระดับความชื้นในดินให้เพียงพอ 2) ให้น้ำตามแบบเกษตรกร คือ การให้พืชอาศัยได้รับน้ำแบบธรรมชาติตามฤดูกาลพบว่า หลังจากการปลูกเชื้อเมื่อตรวจรากหลังจากปลูกเชื้อเห็ดตับเต่าให้แก่ต้นพืชอาศัยชนิดต่างๆ นาน 3 เดือน และ 6 เดือน ในกรรมวิธีที่ 1 พบว่า ต้นพืชอาศัยทุกชนิดมีเชื้อเห็ดตับเต่าเข้าอาศัยอยู่ในรากตั้งแต่ 20 - 80 เปอร์เซ็นต์ และ 66 - 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนกรรมวิธีที่ 2 มีตั้งแต่ 0 - 43 เปอร์เซ็นต์ และ 20 - 80 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ แต่ยังไม่พบการสร้างเห็ดตับเต่าในพืชอาศัยชนิดใดเลย

          การศึกษาเก็บรักษาเชื้อพันธุ์ในน้ำกลั่นปลอดเชื้อในเห็ดตีนแรด เห็ด Oudemansiella spp. และเห็ดต่งฝนพบว่า วิธีเก็บในน้ำกลั่นปลอดเชื้อเก็บรักษาเส้นใยเห็ดทั้งสามชนิดได้ 18 เดือน โดยที่เส้นใยเห็ดยังคงความมีชีวิตของเส้นใย การเจริญของเส้นใยรวมทั้งความสามารถในการออกดอกให้ผลผลิตเช่นเดียวกับการเก็บบนอาหารวุ้นและถ่ายเชื้อทุก 2 เดือน ไว้ที่อุณหภูมิห้องเย็น (25 ± 2 oซ) ซึ่งเป็นวิธีเปรียบเทียบ และการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดในป่าเต็งรังและป่าสนในเขตจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่และพัฒนาสู่การเพาะเห็ดชนิดที่รับประทานได้พบว่า ในป่าเต็งรังจำนวน 8 แห่ง พบเห็ดที่จำแนกได้ 70 ชนิด ใน 10 order 26 family ซึ่งเป็นเห็ดชนิดที่รับประทานได้ 31 ชนิด รับประทานไม่ได้ 18 ชนิด และไม่มีข้อมูลว่ารับประทานได้อีก 21 ชนิด สามารถแยกเชื้อบริสุทธิ์และนำมาเพาะในสภาพโรงเรือนได้สองชนิด คือ เห็ดขอนขาว (Lentinus squarrosulus (Mont) และเห็ดลมป่า (Lentinus polychrous Lev.) และในป่าสนเขาและป่าเบญจพรรณจำนวน 5 แห่ง พบเห็ดที่จำแนกได้ 37 ชนิด ใน 8 order 17 family ซึ่งเป็นเห็ดชนิดที่รับประทานได้ 12 ชนิด รับประทานไม่ได้ 8 ชนิด และไม่มีข้อมูลว่ารับประทานได้อีก 12 ชนิด แยกเชื้อบริสุทธิ์ชนิดที่รับประทานได้และนำมาเพาะเลี้ยงในสภาพโรงเรือนได้ 1 ชนิด คือ เห็ดต่งฝน (Lentinus giganteus Berk.)