การวิจัยและพัฒนาวัสดุปลูกสำหรับกล้วยไม้ - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28) +--- เรื่อง: การวิจัยและพัฒนาวัสดุปลูกสำหรับกล้วยไม้ (/showthread.php?tid=2009) |
การวิจัยและพัฒนาวัสดุปลูกสำหรับกล้วยไม้ - doa - 11-22-2016 การวิจัยและพัฒนาวัสดุปลูกสำหรับกล้วยไม้ พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์, บัณฑิต จิตรจำนงค์, สราวุฒิ ปานทน, นุกูล อ่อนนิ่ม และพีรพงษ์ เชาวนพงษ์ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี, สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 และสำนักวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กล้วยไม้สกุลหวายตัดดอกและกระถางมีการผลิตและส่งออกประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิตกล้วยไม้ทั้งหมด ปัจจุบันกล้วยไม้สกุลหวายตัดดอกประสบปัญหากาบมะพร้าวซึ่งเป็นวัสดุปลูกเดิมมีราคาสูงขึ้นมากจากพื้นที่ปลูกและผลผลิตลดลง ซึ่งเกิดจากการระบาดของหนอนหัวดำ ด้วงงวงและแมลงดำหนาม งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาและทดสอบวัสดุปลูกจากสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อนำมาเป็นวัสดุปลูกกล้วยไม้ทดแทนการใช้กาบมะพร้าว ผลการศึกษาวัสดุปลูกที่เหมาะสมทดแทนการใช้กาบมะพร้าวสำหรับกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย ได้แก่ กระถินและทางปาล์มน้ำมันโดยมีคุณสมบัติทางกายภาพดี ให้ธาตุอาหารสูง และต้นกล้วยไม้มีผลตอบสนองต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกที่ดีนอกจากนั้นได้ทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องอัดก้อนวัสดุปลูกกล้วยไม้ทดแทนกระบะกาบมะพร้าวที่สามารถใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ มีกำลังการผลิต 25 - 30 ก้อนต่อชั่วโมง ก้อนวัสดุปลูกมีขนาด 22 x 36 x 8 เซนติเมตร สามารถปลูกกล้วยไม้ได้ 4 ต้นต่อก้อน มีอายุการใช้งาน 3 - 5 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และทำการศึกษาวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมสำหรับก้อนวัสดุปลูกวิจัยเพื่อลดต้นทุนในการดูแลต้นกล้วยไม้ ผลการศึกษาพบว่า วิธีการให้น้ำที่บริเวณวัสดุปลูกและโคนต้นกล้วยไม้ด้วยหัวพ่นฝอยที่อัตรา 60 ลิตร/ชม. ปริมาณ 10 ม.ม./วัน มีความเหมาะสมที่สุด โดยใช้ปริมาณน้ำน้อยกว่าการให้น้ำด้วยหัวสปริงเกลอร์แบบเกษตรกร (อัตราจ่ายน้ำประมาณ 850 ลิตร/ชั่วโมง) 4 ลบ.ม./ไร่/วัน สำหรับกล้วยไม้กระถางสกุลหวาย เมื่อส่งออกจะพบปัญหาหลายอย่างทั้งโรคแมลงและวัชพืชที่มีติดไปกับวัสดุปลูกและจากการศึกษากล้วยไม้ที่ส่งออกจะเจริญอยู่ในช่วงใกล้ออกดอก หรือกำลังแทงตาดอก (near booming) ฉะนั้นความสมบูรณ์ของลำลูกกล้วยและใบ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรูปลักษณ์ของการส่งออกทำการศึกษาวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าวที่เหมาะสมสำหรับกล้วยไม้พันธุ์ดอกสีขาว (พันธุ์ 5 N) พันธุ์ดอกสีแดง (เฮียสกุล) และพันธุ์ดอกสีเหลือง (เหลือง 246) ผลการศึกษาพบว่า ถ่านสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกที่เหมาะสมสำหรับกล้วยไม้พันธุ์ดอกสีขาวและโฟมเป็นวัสดุปลูกที่เหมาะสมสำหรับกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ดอกสีแดงและพันธุ์ดอกสีเหลือง โดยไม่พบปัญหาเรื่องโรค แมลงและวัชพืช รวมถึงส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชในด้านความกว้าง ความหนาของลำลูกกล้วยเก่า จำนวนลำลูกกล้วย ความกว้างและความยาวของใบก่อนออกดอก
กล้วยไม้กระถางสกุลฟาแลนนอปซิสและสกุลออนซิเดียมเป็นกล้วยไม้สกุลที่มีการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งใช้วัสดุปลูก ได้แก่ กาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว และสเฟกนั่มมอสปัจจุบันประสบปัญหาหาได้ยากและมีราคาแพง โดยเฉพาะสเฟกนั่มมอสต้องนำเข้าจากต่างประเทศและบางประเทศมีนโยบายห้ามส่งออกในอนาคตอันใกล้ได้ทำการศึกษานำวัสดุปลูก 3 ชนิด ได้แก่ เปลือกไม้สับ ลีโอนาไดท์และแหนแดง มาทำการศึกษาเป็นวัสดุปลูกทดแทนในการปลูกกล้วยไม้ทั้ง 2 ชนิด ผลการศึกษาวัสดุปลูกทดแทนที่เหมาะสมพบว่า เปลือกไม้และลีโอนาไดท์ เป็นวัสดุปลูกทดแทนที่สามารถใช้ได้สำหรับกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส กล้วยไม้มีการเจริญเติบโตดี สมบูรณ์แข็งแรง มีความสูงของต้นเฉลี่ย ความยาวใบเฉลี่ย ความกว้างใบเฉลี่ย ไม่แตกต่างจากวัสดุปลูกเดิม ในขณะที่วัสดุปลูกทดแทนที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกล้วยไม้สกุลออนซิเดียม คือ เปลือกไม้สับเพียงชนิดเดียว สำหรับแหนแดงไม่มีความเหมาะสมสำหรับการเป็นวัสดุปลูกทดแทนในกล้วยไม้ทั้งสองชนิด โดยให้ผลการศึกษาในการเจริญเติบโตของต้นที่ช้ากว่าและการออกช่อดอกที่มีจำนวนดอกต่อช่อน้อยกว่าการปลูกกล้วยไม้ในวัสดุปลูกชนิดอื่น
|