คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การแก้ปัญหาการผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในภาคตะวันออก - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: การแก้ปัญหาการผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในภาคตะวันออก (/showthread.php?tid=1985)



การแก้ปัญหาการผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในภาคตะวันออก - doa - 11-18-2016

การแก้ปัญหาการผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในภาคตะวันออก
อรุณี วัฒนวรรณ, ชูขาติ วัฒนวรรณ, ศรีนวล สุราษฎร์, อรุณี แท่งทอง, พีรพงษ์ เชาวนพงษ์, รัตยา เกตุมาโร และชนะศักดิ์ จันปุ่ม
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และสำนักวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร  


ทดสอบผลการเตรียมต้นและการตัดแต่งช่อผลต่อการเพิ่มขนาดผลลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในพื้นที่
อรุณี วัฒนวรรณ, ชูชาติ วัฒนวรรณ, อรุณี แท่งทอง และชนะศักดิ์ จันปุ่ม
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6

          การทดสอบผลของการเตรียมต้นและการตัดแต่งช่อผลต่อการเพิ่มขนาดผลลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ปัญหาการผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในภาคตะวันออก ดำเนินในแปลงลำไยอายุ 10 - 12 ปี ของเกษตรกรในอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จำนวน 13 ราย ทดสอบการเตรียมต้นโดยการตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยว ให้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีที่มีสัดส่วน N : P : K เท่ากับ 4:3:1 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น กำจัดศัตรูพืชที่หลงเหลือจากฤดูกาลก่อน และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการตัดแต่งช่อผล โดยตัดแต่งช่อผลออกประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวช่อหรือไว้ผลไม่เกิน 50 ผลต่อช่อ ในระยะที่ผลลำไยมีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร (กรรมวิธีแนะนำ) เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกรที่เตรียมต้นโดยการตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอบำรุงต้น และให้น้ำเป็นครั้งคราวก่อนการชักนำการออกดอก 1 เดือน ร่วมกับการตัดแต่งช่อผล โดยตัดแต่งช่อผลในระยะที่ผลลำไยมีขนาด 10 มิลลิเมตรขึ้นไป โดยตัดแต่งปลายช่อผลออกเล็กน้อย พบว่ากรรมวิธีแนะนำมีปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออก (เกรด 1 และ 2) สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรร้อยละ 14 ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการเตรียมต้น ทำให้ต้นลำไยแข็งแรง สมบูรณ์ และการตัดแต่งช่อผล ทำให้มีการไว้ผลในปริมาณที่เหมาะสม ผลจึงมีการเจริญเติบโตได้ดี

ทดสอบผลการเตรียมต้นและการเร่งการสลายตัวของคลอเรตในดินต่อการชักนำการออกดอกนอกฤดูของเกษตรกรในพื้นที่
อรุณี วัฒนวรรณ, ชูชาติ วัฒนวรรณ, อรุณี แท่งทอง, พีรพงษ์ เชาวนพงษ์ และชนะศักดิ์ จันปุ่ม
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และสำนักวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 

          การทดสอบผลการเตรียมต้นและการเร่งการสลายตัวของคลอเรตในดินต่อการชักนำการออกดอกนอกฤดูของเกษตรกรในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ปัญหาการผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของเกษตรกรในภาคตะวันออก ดำเนินในแปลงลำไยอายุ 10 - 12 ปี ของเกษตรกรในอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จำนวน 13 ราย ทดสอบการเตรียมต้นโดยการตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยว ให้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีที่มีสัดส่วน N : P : K เท่ากับ 4:3:1 อัตรา 1 - 2 กิโลกรัมต่อต้น กำจัดศัตรูพืชที่หลงเหลือจากฤดูกาลก่อน และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการการเร่งการสลายตัวของคลอเรต โดยใช้สารละลายกากน้ำตาล:น้ำ ในอัตรา 1:30 ราดลงดินรอบทรงพุ่มในปริมาณ 5 ลิตร/ตร.ม. หลังการราดสารโพแทสเซียมคลอเรต 1 เดือน (กรรมวิธีแนะนำ) เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกรที่เตรียมต้นโดยการตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอบำรุงต้น และให้น้ำเป็นครั้งคราวก่อนการชักนำการออกดอก 1 เดือน และไม่มีการเร่งการสลายตัวของคลอเรต พบว่าการออกดอกของทั้งกรรมวิธีแนะนำและกรรมวิธีเกษตรกรไม่แตกต่างกัน โดยมีการออกดอกเฉลี่ยร้อยละ 88 และ 90 ตามลำดับ สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ปริมาณสารคลอเรตในดินของทั้งสองกรรมวิธี พบปริมาณสารคลอเรตตกค้างในดินในปริมาณที่ต่ำมาก (น้อยกว่า 5 ppm) อาจกล่าวได้ว่าการเร่งการสลายตัวของคลอเรตในดินไม่มีผลต่อการชักนำการออกดอกของลำไยนอกฤดู แต่การเตรียมต้นตามกรรมวิธีแนะนำมีผลทำให้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกร โดยมีปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 1,970 และ 1,764 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ย 66,367 และ 57,158 บาทต่อไร่ ตามลำดับ และพบว่ากรรมวิธีแนะนำมีต้นทุนต่ำกว่ากรรมวิธีเกษตรกรเฉลี่ย 1,551 บาทต่อไร่ และพบว่าทั้งสองกรรมวิธีมีค่า BCR>1 แสดงถึงการลงทุนที่มีผลกำไร สามารถทำการผลิตได้ แต่กรรมวิธีแนะนำสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณผลผลิตและผลตอบแทนได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเตรียมต้นตามกรรมวิธีแนะนำ ทำให้ต้นลำไยแข็งแรง สมบูรณ์กว่ากรรมวิธีเกษตรกร