เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสภาพแห้งแล้ง - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28) +--- เรื่อง: เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสภาพแห้งแล้ง (/showthread.php?tid=1965) |
เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสภาพแห้งแล้ง - doa - 11-16-2016 เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสภาพแห้งแล้ง ศิวิไล ลาภบรรจบ, อมรา ไตรศิริ, ศุภกาญจน์ ล้วนมณี, สมควร คล้องช้าง, สมฤทัย ตันเจริญ, ชัชธนพร เกื้อหนุน, ณัฐพงศ์ ศรีสมบัติ, สุปรานี มั่นหมาย, ชุติมา คชวัฒน์, รัชดา ปรัชเจริญวนิชย์, นงลักษ์ ปั้นลาย, ภัชญภณ หมื่นแจ้ง, พิเชษฐ์ กรุดลอยมา, ดาวรุ่ง คงเทียน, วรกานต์ ยอดชมพู, กอบเกียรติ ไพศาลเจริญ, กัลยกร โปร่งจันทึก, อนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์, ภาวนา ลิกขนานนท์, ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต, รมิดา ขันตรีกรม, มงคล ตุ่นเฮ้า, บรรณพิชญ์ สัมฤทธิ์, อภิรัฐ ขาวสวี, ชนันทวัฒน์ ศุภสุทธิรางกูล, สุเทพ สหายา, ประไพ ทองระอา, คนึงศักดิ์ เจียรนัยกุล, วีระพงษ์ เย็นอ่วม, คทาวุธ จงสุขไว, มานพ คันธามารัตน์, กัญจน์ชญา ตัดโส, สุริพัฒน์ ไทยเทศ, สุทัศนีย์ วงศ์ศุปไทย, วนิดา ธารถวิล, สุพัตรา ชาวกงจักร, เพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง, จรรยา มณีโชติ และกลอยใจ คงเจี้ยง โครงการวิจัยเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสภาพแห้งแล้ง ดำเนินการในปี 2554 - 2558 ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่ การจัดการธาตุอาหารในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมต่อพันธุ์และสภาพพื้นที่ การลดการไถพรวนในระบบปลูกพืชที่มีข้าวโพดเป็นหลัก การศึกษาปัจจัยการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวโพด และการลดความสูญเสียผลผลิตจากศัตรูข้าวโพด มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมที่เหมาะสมสำหรับเป็นคำแนะนำในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมการจัดการธาตุอาหารในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมต่อพันธุ์และสภาพพื้นที่ในพื้นที่ดินด่าง ดินเหนียวและดินร่วน จากผลการวิจัย สามารถให้คำแนะนำดังนี้ การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ที่ปลูกในดินด่าง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ สำหรับชุดดินตาคลีควรใส่ปุ๋ยในอัตรา 5-5-2.5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ชุดดินลพบุรีควรใส่ปุ๋ยในอัตรา 5-5-5 หรือ 10-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ และการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 และพันธุ์ NSX052014 ที่ปลูกในดินด่างอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ชุดดินสมอทอด ควรใส่ปุ๋ยในอัตรา 10-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ส่วนชุดดินลำนารายณ์ที่มีหน้าดินลึกน้อยกว่า 65 เซนติเมตร ไม่เหมาะสมแก่การปลูกข้าวโพดเนื่องจากทำให้พืชได้รับความเสียหายเมื่อมีการกระทบกับภาวะแห้งแล้งยาวนาน การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมที่ปลูกในดินเหนียว อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สำหรับชุดดินโชคชัยควรใส่ปุ๋ยในอัตรา 5-2.5-5 กิโลกรัม NP2O5-K2O ต่อไร่ และชุดดินวังไฮ ควรใส่ปุ๋ยในอัตรา 5-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ในดินร่วนเหนียวชุดดินวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ควรใส่ปุ๋ยอัตรา 10-5-3 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ จนถึง 15-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ในดินร่วนปนทรายชุดดินโคราช อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ควรใส่ปุ๋ยอัตรา 10-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ถึง 10-10-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ส่วนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์นครสวรรค์ 3 และ พันธุ์ NSX052014 ในดินร่วนเหนียวชุดดินวังไฮ อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ควรใส่ปุ๋ยในอัตรา 5-5-2.5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่
การจัดการสมดุลของธาตุอาหารพืชในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ดีเด่นในพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นแนวทางในการให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ย เพื่อรักษาสมดุลของธาตุอาหารในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตวสรุปเป็นคำแนะนำได้ดังนี้ การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 และพันธุ์เอ็นเค 48 ที่ปลูกในดินด่าง ชุดดินตาคลี ชุดดินลพบุรี และชุดดินลำนารายณ์ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 0.5 เท่าของคำแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับปุ๋ยมูลไก่อัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ และไถกลบเศษซากพืช หรือใช้ปุ๋ยมูลไก่ 500 กิโลกรัมต่อไร่ร่วมกับไถกลบเศษซากพืช การใส่ปุ๋ยอินทรีย์มูลไก่ และการใส่ปุ๋ยอินทรีย์มูลไก่ร่วมกับปุ๋ยเคมี จะให้สมดุลของไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในดินมีค่าเกินดุลและยังให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงสุด การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในดินเหนียวชุดดินโชคชัย แนะนำให้เลือกใช้พันธุ์บี 80 ร่วมกับการจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินทำให้ได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าและให้ปริมาณธาตุอาหารในดินเกินดุลการจัดการดินและปุ๋ยในชุดดินวังไฮแนะนำให้ปลูกพันธุ์นครสวรรค์ 3 ร่วมกับการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด ส่วนชุดดินวังสะพุง ควรปลูกพันธุ์บี 80 และจัดการดินและปุ๋ยตามวิธีของเกษตรกร การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในดินร่วน ควรปลูกข้าวโพดพันธุ์เมจิก 100 และพันธุ์ DK 919 ร่วมกับการจัดการดินและปุ๋ย ดังนี้ ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ (ไถกลบเศษซากพืช), การใส่ปุ๋ยมูลไก่ 500 กก.น้ำหนักแห้งต่อไร่ (ไถกลบเศษซากพืช) และการใส่ปุ๋ย 0.5 เท่าของค่าวิเคราะห์ + ปุ๋ยมูลไก่ 500 กก.น้ำหนักแห้งต่อไร่ (ไถกลบเศษซากพืช) สามารถชดเชยธาตุอาหารที่สูญเสียไปกับผลผลิตได้
การจัดการปัจจัยการผลิตในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในดินด่างโดยใช้จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตร่วมกับปุ๋ยเคมี ในชุดดินตาคลีพบว่า การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับจุลินทรีย์ละลายฟอตเฟตสายพันธุ์ ML1 RPS 003F และ RPS 0081B ทำให้ดินมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นมากกว่า ไม่ใส่ปุ๋ยและใส่ปุ๋ยมูลไก่ แต่การใช้ปุ๋ยเคมี + จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตไม่ทำให้ผลผลิตข้าวโพดแตกต่างจากการไม่ใส่ปุ๋ยและการใส่มูลไก่ 500 กิโลกรัมต่อไร่ ในชุดดินลพบุรี ไม่พบการตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีและไม่พบการตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ชุดดินลำนารายณ์ การใส่ปุ๋ยเคมี N K ตามค่าวิเคราะห์ดิน ร่วมกับจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต RPS 0034B มีประสิทธิภาพเพิ่มผลผลิตข้าวโพดดีกว่าการใส่ปุ๋ยเคมี N K เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อมีการใส่ปุ๋ย N P K ตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตมีประสิทธิภาพลดลง การใส่เชื้อและไม่ใส่เชื้อจึงไม่ต่างกัน การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในดินเหนียวโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ในชุดดินโชคชัยและชุดดินวังไฮพบว่า การใส่และไม่ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ไม่มีผลต่อการให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ทั้งสองชุดดินแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีในอัตรา 0.7 เท่าของอัตราที่แนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในดินร่วน ชุดดินวังสะพุงซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง สามารถใช้ปุ๋ย 0.75 เท่าของคำแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือใช้ปุ๋ย 0.7 เท่าของคำแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับปุ๋ยมูลไก่หรือปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันและสูงกว่าการไม่ใส่ปุ๋ย การจัดการปุ๋ยและระบบปลูกพืชต่อการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในดินเหนียวชุดดินสมอทอดพบว่า การปลูกถั่วแปบเป็นพืชตามหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวโพด ทำให้ดินมีอินทรียวัตถุสูงกว่าระบบที่ปลูกข้าวฟ่างและถั่วเขียวเป็นพืชตาม ในชุดดินสมอทอดที่ปลูกข้าวโพดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานนั้นการใส่ปุ๋ยมูลไก่ทำให้ดินมีอินทรียวัตถุในดินลดลงน้อยที่สุด ทำให้ดินมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ สะสมอยู่ในปริมาณสูง ส่วนการใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว ทำให้อินทรียวัตถุในดินลดลงมากกว่าวิธีที่ปรับปรุงดินด้วยมูลไก่ แต่ดีกว่าวิธีการที่ไม่ใส่ปุ๋ยซึ่งมีอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ลดลงมากที่สุด ระบบที่ปลูกข้าวโพดตามด้วยถั่วเขียวให้ผลตอบแทนต่อหน่วยลงทุนมากกว่าระบบที่ปลูกข้าวโพดตามด้วยข้าวฟ่างและข้าวโพดตามด้วยถั่วแปบ และการจัดการปุ๋ยในระบบปลูกพืชทั้ง 3 ระบบ ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าแก่การลงทุนมากที่สุดเมื่อใช้ปุ๋ยในอัตรา 10-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่
การลดการไถพรวนในระบบปลูกพืชที่มีข้าวโพดเป็นหลักพบว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์นครสวรรค์ 3 โดยไม่มีการไถพรวนดินกับการปลูกโดยการไถพรวน ในชุดดินปากช่อง ให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันการปลูกแบบไม่ไถพรวนลดเวลาและแรงงานในการเตรียมดินและต้นทุนการผลิต สามารถปลูกพืชได้เร็วขึ้นและยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ
การศึกษาปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางในการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสมในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลตอบแทนและเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร ทั้งในด้านเมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยและการใช้เครื่องเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมกับสภาพการผลิตของเกษตรกร
ผลการวิจัยพบว่า การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีต้นทุนและผลตอบแทนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ ต้นทุนการผลิตเรียงลำดับจาก ค่าปุ๋ย ค่าเก็บเกี่ยว ค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าดูแลรักษา คิดเป็นร้อยละ 30, 29, 18, 10 และ 7 ตามลำดับ เกษตรกรส่วนใหญ่ใส่ปุ๋ยไม่ถูกต้อง ควรแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลและเป็นทางเลือกแก่เกษตรกร ด้านพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรเลือกใช้พันธุ์พิจารณาจากผลผลิตสูง ทนแล้ง แกนเล็ก น้ำหนักเมล็ดดี ไม่หักล้มเมื่อใช้เครื่องเก็บเกี่ยว ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์สูง จากการศึกษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดสายพันธุ์แท้ที่ผ่านการเก็บรักษาพบว่า มีความงอกและความแข็งแรงแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องมีความระมัดระวังตั้งแต่การเก็บเกี่ยวจนถึงกระบวนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสำหรับนำไปปลูก การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์นครสวรรค์ 3 ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์–วัน สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิตได้ ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเก็บเกี่ยวขนาดเล็กเป็นเครื่องเก็บเกี่ยวข้าวโพดแบบสองแถวปลิดเพื่อทดแทนแรงงานคนและสามารถเป็นเครื่องต้นแบบเพื่อพัฒนาเชิงการค้าและแนะนำสู่เกษตรกรต่อไป กิจกรรมวิจัยการลดความสูญเสียผลผลิตจากศัตรูข้าวโพดมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสียหายต่อผลผลิตและแนวทางการลดความสูญเสียจากโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ พบว่าโรคใบด่างทำให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์นครสวรรค์ 3 ลดลงตั้งแต่ 20.5 - 38.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นโรคในระยะ V1 - V9 หรือตั้งแต่หลังงอกจนอายุประมาณ 1 เดือน เมื่อเป็นโรคระยะหลังจากนั้นไม่กระทบต่อการให้ผลผลิต ส่วนการจำแนกปฏิกิริยาของข้าวโพดสายพันธุ์แท้นั้น พบว่า มี 4 สายพันธุ์ที่สามารถเป็นแหล่งพันธุกรรมของความต้านทานโรคใบด่าง ได้แก่ Nei452001 Nei452004 Nei541006 และ Nei502003 นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ก้าวหน้าที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตในสภาพที่มีการปลูกเชื้อโรคใบด่าง จำนวน 22 พันธุ์ ที่สามารถแนะนำให้แก่เกษตรกรนำไปปลูกเพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิต การสำรวจและประเมินความเสียหายผลผลิตข้าวโพดจากการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพบว่า เพลี้ยไฟในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการแพร่ระบาดช่วงฤดูปลายฝนมากกว่าต้นฤดูฝน โดยพบน้อยกว่า 10 - 20 ตัว/ต้น/ฝัก ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่มีผลต่อผลผลิตของข้าวโพด เพลี้ยไฟที่พบมี 4 ชนิด ในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นส่วนใหญ่เป็นเพลี้ยไฟดอกไม้ (Frankliniella schultzei Trybom) และส่วนน้อยเป็นเพลี้ยไฟถั่ว (Caliothrips phaseoli Hood และ Caliothrips indicus bagnall) สำหรับเพลี้ยไฟที่เข้าทำลายที่ไหมข้าวโพดเป็นเพลี้ยไฟดอกไม้ฮาวาย (Thrips hawaiiensis Morgan) การประเมินความเสียหายทางใบของข้าวโพดพันธุ์ทดสอบจากการทำลายของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดจัดอยู่ในกลุ่มของพันธุ์ต้านทานปานกลางและพันธุ์อ่อนแอ ส่วนการประเมินทำลายภายในลำต้นมีค่าเฉลี่ยของความยาวรอยทำลายเฉลี่ย 0.80 เซนติเมตรต่อหนอน 1 ตัว ในสภาพไร่พบการแพร่ระบาดของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดในการปลูกปลายฤดูฝนมากกว่าต้นฤดูฝนและพบความเสียหาย 0.86 และ 0.63 รูเจาะ/ต้น ในการปลูกปลายฤดูฝน และต้นฤดูฝนตามลำดับ ปริมาณการแพร่ระบาดยังไม่ถึงระดับที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต การทดสอบสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าวโพดโดยวิธีพ่นทางใบได้ผลดังนี้ ชนิดและอัตราสารที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะลำต้นในข้าวโพด ได้แก่ flubendiamide 20%WG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ20 ลิตร chlorantraniliprole 5.17%SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร indoxacarb 15%EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร fipronil 5%SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
และ thiamethoxam/lambdacyhalothrin 14.1 + 10.6%ZC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะฝักในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ indoxacarb 15%EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร, emamectin benzoate 1.92%EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร, lufenuron 5%EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร, hiamethoxam/lambdacyhalothrin 14.1/10.6%ZC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร, และ fipronil 5%SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร |