คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยเพื่อการผลิตเอทานอล - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยเพื่อการผลิตเอทานอล (/showthread.php?tid=1945)



การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยเพื่อการผลิตเอทานอล - doa - 11-15-2016

การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยเพื่อการผลิตเอทานอล
วิภาวรรณ กิติวัชระเจริญ, วาสนา วันดี, นัฐภัทร์ คำหล้า, สุนี ศรีสิงห์, ดารารัตน์ มณีจันทร์, จาริณี จันทร์คำ, ดุจลดา พิมรัตน์, สุจิตรา พิกุลทอง, สุมาลี โพธิ์ทอง, ณรงค์ ย้อนใจทัน, กนกวรรณ ฟักอ่อน และเบ็ญจมาตร รัศมีรณชัย
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์

          โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยเพื่อผลิตเอทานอล มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตและความหวานสูง  อายุเก็บเกี่ยวสั้น เหมาะสมสำหรับการนำมาผลิตเอทานอล และแนวทางการจัดการอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอ้อยสามารถผลิตเอทานอลซึ่งนำมาใช้ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี การศึกษาวิจัยโดยทำการประเมินผลผลิตของอ้อยพันธุ์ต่างๆ ที่ได้มาจากโครงการปรับปรุงพันธุ์อ้อยทั้งในอดีตและปัจจุบัน คัดเลือกโคลนพันธุ์อ้อยจากลูกผสมอ้อยชุดปี  2548 ได้ลูกผสมดีเด่นจำนวน 9 โคลนพันธุ์ ที่ให้ผลผลิตสูง มีองค์ประกอบของผลผลิตดีและค่าความหวานอ้อยสูง  รวมทั้งอายุเก็บเกี่ยวสั้นเพื่อเหมาะสมสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลนำไปเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่นและเปรียบเทียบพันธุ์ในไร่เกษตรกร โดยใช้อ้อยพันธุ์อู่ทอง2 ซึ่งมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น สะสมน้ำตาลเร็ว เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ในปี 2554 - 2558 ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ และไร่เกษตรกรในเขตจังหวัดกาญจนบุรี โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB ทำการทดลอง 4 ซ้ำ และศึกษาข้อมูลจำเพาะของโคลนพันธุ์ดีเด่นในเรื่องโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ รวมทั้งการใช้ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม  ผลการวิจัยได้โคลนดีเด่น  3 โคลนพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงมากกว่าพันธุ์อู่ทอง 2 ทั้งในอ้อยปลูก อ้อยตอ1 และอ้อยตอ 2 ได้แก่ โคลน UTe05-102, UTe05-104 และ UTe05-110 และได้ 3 โคลนพันธุ์ที่ให้ค่าความหวานอ้อยมีค่าซีซีเอสสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง  2 ได้แก่ โคลน  UTe05-102, UTe0 และ 5-112, UTe05-114 และโคลนที่เหมาะสำหรับเก็บเกี่ยวอายุสั้น คือ UTe05-112 อย่างไรก็ตามองค์ประกอบสำคัญที่นำมาใช้ในการแปรรูปเป็นเอทานอล  คือ  ปริมาณน้ำตาลรวม  (Total sugar) ซึ่งได้จากน้ำตาล  ซูโคลส  กลูโคลส  และฟรุคโตส  ที่รวมกันอยู่ในน้ำอ้อยของทุกโคลนพันธุ์ไม่แตกต่างกันทางสถิติอยู่ระหว่าง 15.88 - 21.60 เปอร์เซ็นต์ โคลนที่มีปริมาณน้ำตาลรวมมากที่สุด ได้แก่ UTe05-112, UTe05-115, UTe05-114 จำนวน 21.60, 21.33, 20.07 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์อู่ทอง 2 ซึ่งมีค่าน้ำตาลรวม 21.78 เปอร์เซ็นต์ การศึกษาเรื่องข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ 1) การศึกษาปฏิกิริยาต่อโรคแส้ดำ เมื่อทำการปลูกเชื้อโรคแส้ดำพบว่า  มี  5 โคลนที่แสดงอาการอ่อนแอต่อโรคแส้ดำปานกลาง (MR) ได้แก่  โคลน UTe05-101, UTe05-102, UTe05-110, UTe05-112, UTe05-114 และพบว่ามี 2 โคลนแสดงอาการค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคแส้ดำ (MS) คือ UTe05-103 และ UTe05-104 2) การศึกษาการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยในอ้อยตอ 1 และตอ 2 แปลงเปรียบเทียบท้องถิ่นพันธุ์อ้อยเพื่อส่งเสริมการผลิตเอทานอลและกระจายผลผลิต (อ้อยชุดปี 2548) ที่ไร่เกษตรกร จ.กาญจนบุรี และศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ พบมีหนอนกอ 2 ชนิด  คือ หนอนกอลายจุดเล็กและหนอนกอสีขาวเข้าทำลายในระยะอ้อยแตกกอและย่างปล้องซึ่งจะลดน้อยลงในช่วงอ้อยเป็นลำ ค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์หน่ออ้อยที่ถูกทำลาย 3 ระยะ ทุกโคลนพันธุ์ไม่แตกต่างกันทางสถิติ  เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์อู่ทอง 2  ในไร่เกษตรกร  จ.กาญจนบุรี อ้อยตอ1 และตอ2  มีเปอร์เซ็นต์ทำลายหน่ออ้อยเฉลี่ย 2.30 – 4.73 เปอร์เซ็นต์ และ 3.32 – 6.73 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โคลนพันธุ์ที่ถูกทำลายน้อยที่สุดในอ้อยตอ1 ได้แก่ โคลน UTe05-115, UTe05-101 ใกล้เคียงกับพันธุ์อู่ทอง 2 และในอ้อยตอ2 ได้แก่ โคลน UTe05-104 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อ้อยตอ1 และตอ2 มีเปอร์เซ็นต์เข้าทำลายหน่ออ้อยเฉลี่ย 5.91 – 11.02 และ 2.29 – 5.58 เปอร์เซ็นต์  โคลนพันธุ์ที่ถูกทำลายน้อยที่สุดในอ้อยตอ1 ได้แก่ โคลน UTe05-103 และในอ้อยตอ2 ได้แก่ UTe05-112 ใกล้เคียงกับ พันธุ์อู่ทอง 2  3) การศึกษาอัตราปุ๋ยที่เหมาะสมพบว่า การใส่ปุ๋ยอัตราต่างๆ มีผลต่อค่าความหวานของอ้อย (CCS) ทั้งอ้อยปลูกและอ้อยตอ1 อ้อยโคลน UTe05-110 และ UTe05-112 มีแนวโน้มให้ผลผลิตและค่าความหวาน (CCS) สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 2 โดยการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอัตราต่ำจะให้ค่าความหวาน (CCS) สูงกว่าการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูงและอัตราปุ๋ยที่เหมาะสมคือ  อัตรา  0.5 N-Pตามค่าวิเคราะห์ดิน-Kตามค่าวิเคราะห์ดิน จากผลการทดลองดังกล่าว  จะได้นำโคลนพันธุ์ดีเด่นไปทดสอบเปรียบเทียบพันธุ์ในพื้นที่แหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญ เพื่อดูศักยภาพในการให้ผลผลิตและค่าความหวานอ้อย (CCS) และขอรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร  เพื่อแนะนำส่งเสริมเป็นพันธุ์อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวอายุสั้นและอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลต่อไป