คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การฟื้นสภาพสวนกาแฟเสื่อมโทรมในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2554 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=4)
+--- เรื่อง: การฟื้นสภาพสวนกาแฟเสื่อมโทรมในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน (/showthread.php?tid=185)



การฟื้นสภาพสวนกาแฟเสื่อมโทรมในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน - doa - 11-02-2015

การฟื้นสภาพสวนกาแฟเสื่อมโทรมในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
สุรีรัตน์  ปัญญาโตนะ, ปานหทัย นพชินวงศ์, ทิพยา ไกรทอง และปิยนุช นาคะ
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร และสถาบันวิจัยพืชสวน

           การฟื้นสภาพสวนกาแฟเสื่อมโทรมในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนนี้เป็นการดำเนินงานโดยกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร สถาบันวิจัยพืชสวน นำเอาความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสวนกาแฟโรบัสต้าของกรมวิชาการเกษตร เช่น การตัดฟื้นต้น การเปลี่ยนยอดกาแฟ การใส่ปุ๋ยและปูนปรับสภาพดิน การจัดการดินในพื้นที่ลาดชัน การควบคุมโรคและแมลงศัตรูกาแฟ ฯลฯ มาบูรณาการเพื่อใช้ปฏิบัติจริงในแหล่งปลูกใหญ่ 3 แห่ง โดยร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด กลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ จ.ชุมพร และกลุ่มเกษตรทำสวน จปร. จ.ระนอง  ดำเนินการระหว่างเดือนมีนาคม 2553 – ธันวาคม 2554   โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตเมล็ดกาแฟแห้งให้ได้ 250 กก./ไร่ และการลดต้นทุนการผลิตกาแฟโรบัสต้า ด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องแก่เกษตรกรต้นแบบจำนวน 30 ราย ทำการฝึกทักษะการปฏิบัติจริงในแปลงสาธิต 1 ไร่/ราย

         ผลของการดำเนินงาน เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตเมล็ดกาแฟแห้งเฉลี่ยจาก 170 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 211 กิโลกรัม/ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8 ซึ่งนับว่ายังต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากในปีแรกนี้กาแฟจะยังให้ผลผลิตไม่เต็มที่แต่จะให้ผลผลิตเต็มที่ในปีที่ 2 และสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้จากการลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเฉลี่ยเป็นเงิน 2,678.90 บาท/ไร่ โดยสรุปทำให้ต้นทุนเมล็ดกาแฟแห้งต่อกิโลกรัมลดลงจาก 53.26 บาท เหลือเพียง 34.86 บาทเท่านั้น หรือคิดเป็นลดลงร้อยละ 34.5