คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
อนุกรมวิธานของแตนเบียนไข่วงศ์ใหญ่ Platygastroidea ที่เข้าทำลายหนอนกอข้าว มวนเขียวข้าว - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2556 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=6)
+--- เรื่อง: อนุกรมวิธานของแตนเบียนไข่วงศ์ใหญ่ Platygastroidea ที่เข้าทำลายหนอนกอข้าว มวนเขียวข้าว (/showthread.php?tid=1821)



อนุกรมวิธานของแตนเบียนไข่วงศ์ใหญ่ Platygastroidea ที่เข้าทำลายหนอนกอข้าว มวนเขียวข้าว - doa - 10-10-2016

อนุกรมวิธานของแตนเบียนไข่วงศ์ใหญ่ Platygastroidea ที่เข้าทำลายหนอนกอข้าว มวนเขียวข้าว และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
จารุวัตถ์ แต้กุล, ชมัยพร บัวมาศ, เกศสุดา สนศิริ, สิทธิศิโรดม แก้วสวัสดิ์, จินตนา ไชยวงค์ และวันทนา ศรีรัตนศักดิ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

          ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ ทั้งในแง่การส่งออกและบริโภคภายในประเทศ ปัญหาหลักในระบบการปลูกข้าวในปัจจุบันคือ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชส่งผลเสียโดยตรงต่อระบบนิเวศเกษตร การใช้แตนเบียนไข่ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูข้าว ถือเป็นควบคุมแมลงศัตรูข้าวโดยชีววิธีที่สำคัญและมีประโยชน์ การทราบถึงชนิดของแตนเบียนไข่สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อการนำมาใช้ประโยชน์ในอนาคต แต่ทั้งนี้งานอนุกรมวิธานแมลงเพื่อระบุชนิดของแตนเบียนไข่ในแปลงปลูกข้าวในประเทศไทยค่อนข้างน้อย แตนเบียนไข่วงศ์ใหญ่ Platygastroidea เป็นแตนเบียนที่มีความสำคัญเข้าทำลายแมลงอาศัยได้สูงถึง 9 อันดับ แต่ยังไม่มีการวิจัยในระดับชนิดของแมลงในกลุ่มนี้ แนวทางการวินิจฉัยในระดับชนิดถือว่าสำคัญยิ่ง เป็นการขยายขอบเขตงานวิจัยในสาขาอื่น ทั้งนี้ความก้าวหน้าของผลการทดลองในระยะเวลา 1 ปี ประกอบด้วยการได้ตัวอย่างแตนเบียนในกลุ่ม Platygastroidea จำนวน 130 ตัวอย่าง แตนเบียนนอกเหนือจากกลุ่ม Platygastroidea จำนวน 200 ตัวอย่าง นำตัวอย่างที่เก็บทั้งหมด มาทำการจัดจำแนกในระดับ วงศ์ วงศ์ย่อย พบว่า วงศ์ย่อย Selioninae จำนวน 98 ตัวอย่าง สกุล Gryon จำนวน 35 ตัวอย่าง วงศ์ย่อย Telenominae พบจำนวนสูงถึง 255 ตัวอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นแตนเบียนไข่ในสกุล Telenomus และ Trissolcus ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดจำแนกในระดับ สกุลและชนิด จัดทำบาร์โค้ดและแทคป้ายชื่อรายละเอียดของแต่ละตัวอย่างเพื่อเป็นฐานข้อมูล จัดเก็บในพิพิธภัณฑ์แมลง