คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ทดสอบประสิทธิภาพและพัฒนาเทคนิคการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสำคัญในคะน้า - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2552 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=27)
+--- เรื่อง: ทดสอบประสิทธิภาพและพัฒนาเทคนิคการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสำคัญในคะน้า (/showthread.php?tid=1773)



ทดสอบประสิทธิภาพและพัฒนาเทคนิคการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสำคัญในคะน้า - doa - 08-09-2016

ทดสอบประสิทธิภาพและพัฒนาเทคนิคการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสำคัญในคะน้า
จีรนุช เอกอำนวย, ดำรง เวชกิจ, พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, สรรชัย เพชรธรรมรส และสิริวิภา พลตรี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ทำการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงต่างกลุ่มในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก Plutella xylostella Linnaeus (Plutellidae : Lepidoptera) แมลงศัตรูสำคัญที่สุดของคะน้าในสวนผักของเกษตรกร อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2552 วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 ซ้ำ 8 วิธีการ คือ ทำการพ่นสารฆ่าแมลง 7 ชนิด ได้แก่ 1. สาร metaflumizone (BAS 320I 24%SC) อัตรา 25 มล. 2. สาร chlorantraniliprole (Prevathon 5%SC) อัตรา 30 มล. 3. สาร tolfenpyrad (Hachi Hachi 16%EC) อัตรา 30 มล. 4. สาร flubendiamide (Takumi 20%WDG) อัตรา 6 กรัม 5. สาร spinosad (Success 12%SC) อัตรา 40 มล. 6. สาร emamectin benzoate (Proclaim 1.92%EC) อัตรา 40 มล. 7. เชื้อจุลินทรีย์ Bacillus aizawai (Xentari 35,000 DBMU/mg) อัตรา 80 กรัม โดยทุกอัตราผสมน้ำ 20 ลิตร และ 8 กรรมวิธีไม่พ่นสาร เริ่มพ่นสารทดลองเมื่อหนอนใยผักระบาดรุนแรงเฉลี่ย 3.38 - 4.58 ตัว/ต้น พ่นสารด้วยเครื่องพ่นสารแบบสูบโยกสะพายหลัง อัตราพ่น 100 - 120 ลิตร/ไร่ พ่นทุก 4 วัน จำนวน 6 ครั้ง ตรวจนับหนอนใยผักในคะน้า 30 ต้น/แปลงย่อย ก่อนพ่นสารทุกครั้ง และหลังพ่นสารครั้งสุดท้าย 4 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตคะน้าในพื้นที่ 2 ตร.เมตร/แปลงย่อย บันทึกจำนวนต้นและน้ำหนักคะน้าตามคุณภาพตลาด

          ผลการศึกษาพบว่า สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผักได้ดีที่สุด คือ สาร flubendiamide อัตรา 6 กรัม/น้ำ 20 ลิตร คือ ควบคุมหนอนใยผักอยูในปริมาณต่ำสุดและให้ผลผลิตคะน้าที่มีคุณภาพดีในปริมาณสูงสุด รองลงมาคือ สาร chlorantraniliprole และ tolfenpyrad ซึ่งสามารถควบคุมหนอนใยผักได้ดีไม่แตกต่างกันทางสถิติกับสาร flubendiamide แต่ให้ผลผลิตต่ำกว่า