ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟฝ้าย (cotton thrips, Thrips palmi Karny) - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2554 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=4) +--- เรื่อง: ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟฝ้าย (cotton thrips, Thrips palmi Karny) (/showthread.php?tid=174) |
ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟฝ้าย (cotton thrips, Thrips palmi Karny) - doa - 11-02-2015 ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟฝ้าย (cotton thrips, Thrips palmi Karny) สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น, พวงผกา อ่างมณี และวนาพร วงษ์นิคง กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟที่ทำลายกล้วยไม้เป็นปัญหาสำคัญในการดูแลรักษากล้วยไม้เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศให้ปราศจากเพลี้ยไฟซึ่งเป็นศัตรูพืชที่ถูกกักกัน การทราบระดับความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดต่างๆที่เกษตรกรใช้ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟจึงมีความจำเป็นในการเลือกชนิดสารฆ่าแมลงที่มีความต้านทานต่ำเพื่อใช้ในการพ่นแบบหมุนเวียน ดังนั้นจึงทำการทดลองเพื่อทราบความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดต่างๆที่เกษตรกรใช้ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในสวนกล้วยไม้ โดยวิธีการให้เพลี้ยไฟจากอำเภอพุทธมณฑลและอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ดูดกินกลีบกล้วยไม้ที่ชุบด้วยสารฆ่าแมลงที่อัตราแนะนำ ผลการทดลองพบว่า ในเพลี้ยไฟจากอำเภอพุทธมณฑล สารฆ่าแมลงที่เพลี้ยไฟมีความต้านทานมากคือ spiromesifen, fipronil, imidacloprid และ clothianidin เนื่องจากทำให้เพลี้ยไฟตายน้อยกว่า 50% เมื่อให้เพลี้ยไฟดูดกินกลีบกล้วยไม้ที่ชุบด้วย สารฆ่าแมลงที่อัตราแนะนำ สารฆ่าแมลงที่มีความต้านทานน้อยกว่าคือ spinosad โดยเพลี้ยไฟมีการตายมากกว่า 90% ส่วนในเพลี้ยไฟจากอำเภอนครชัยศรี สารฆ่าแมลงที่เพลี้ยไฟมีความต้านทานมาก คือ spiromesifen, imidacloprid และ clothianidin เนื่องจากทำให้เพลี้ยไฟตายน้อยกว่า 50% เมื่อให้เพลี้ยไฟดูดกินกลีบกล้วยไม้ที่ชุบด้วยสารฆ่าแมลงที่อัตราแนะนำ สารฆ่าแมลงที่มีความต้านทานน้อยกว่าคือ spinosad, emamectin benzoate และ fipronil โดยเพลี้ยไฟมีการตายถึง 80% สารฆ่าแมลงที่ใช้ในการป้องกันกำจัดหลายชนิดที่อัตราแนะนำใช้ไม่ได้ผลในการฆ่าเพลี้ยไฟ ดังนั้นจึงควรมีการปรับเปลี่ยนอัตราแนะนำใหม่ ผลการทดลองทำให้สามารถระบุสารฆ่าแมลงที่เพลี้ยไฟในแต่ละแหล่งมีความต้านทานน้อยเพื่อนำมาใช้ในการพ่นแบบหมุนเวียนเพื่อชะลอความรุนแรงของความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในอนาคต
|