คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูหน่อไม้ฝรั่ง - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2552 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=27)
+--- เรื่อง: การศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูหน่อไม้ฝรั่ง (/showthread.php?tid=1712)



การศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูหน่อไม้ฝรั่ง - doa - 08-05-2016

การศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการส่งออก
สาทิพย์ มาลี และวิไลวรรณ เวชยันต์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ดำเนินการสำรวจการระบาดของหนอนผีเสื้อศัตรูหน่อไม้ฝรั่ง ในจังหวัดนครปฐม และกาญจนบุรี พบว่ามีหนอนผีเสื้อที่เข้าทำลายหน่อไม้ฝรั่งที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก และหนอนเจาะสมอฝ้าย จึงทำการเลี้ยงเพิ่มปริมาณหนอนทั้ง 3 ชนิด ในห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เพื่อใช้ในการทดลองหาค่า LC50 ของไส้เดือนฝอยต่อหนอนทั้ง 3 ชนิด จากการทดลองพบว่า ค่า LC50 ของไส้เดือนฝอย Steinernema carpocapsae ต่อหนอนกระทู้ผักเท่ากับ 4.13 ตัวต่อหนอน 1 ตัว และ LC50 ของไส้เดือนฝอย S. carpocapsae ต่อหนอนเจาะสมอฝ้ายเท่ากับ 5.28 ต่อหนอน 1 ตัว และ LC50 ของไส้เดือนฝอย S. carpocapsae ต่อหนอนกระทูหอมเท่ากับ 5.8 ต่อหนอน 1 ตัว และจะได้นำผลการทดลองดังกล่าวเป็นข้อมูลในการศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงชนิดต่างๆในการเข้าทำลายหนอนผีเสื้อศัตรูหน่อไม้ฝรั่งในสภาพโรงเรือนต่อไป

          ทำการประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูหน่อไม้ฝรั่งในสภาพโรงเรือนโดยพ่นไส้เดือนฝอยเข้มข้น 1,000 2,000 และ 4,000 ตัว/มล. ปริมาณ 5 มล. บริเวณโคนต้นหน่อไม้ฝรั่ง พื้นที่ประมาณ 500 ตารางเซนติเมตร ทำการตรวจนับหนอนที่ตายเนื่องจากไส้เดือนฝอยหลังทำการทดลอง 2 วัน พบว่า หนอนตาย 20.75 75.25 และ 80.50 % ศึกษาระยะเวลาการอยู่รอดของไส้เดือนฝอยในดินที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งในโรงเรือน โดยพ่นไส้เดือนฝอยลงในดิน อัตรา 2000 ตัว/มล. พื้นที่ประมาณ 500 ตารางเซนติเมตร หลังจากพ่น 6 12 24 48 ชั่วโมง 1 และ 2 สัปดาห์ เก็บดินไปทำการตรวจหาไส้เดือนฝอย โดยใช้หนอนกินรังผึ้งพบว่า หลังทำการพ่นไส้เดือนฝอย 6 - 48 ชั่วโมง ไส้เดือนฝอยมีประสิทธิภาพในการทำลายหนอนกินรังผึ้งระหว่าง 70 - 100 % ส่วนหลังพ่นไส้เดือนฝอย 1 และ 2 สัปดาห์ ไส้เดือนฝอยมีประสิทธิภาพในการทำลายหนอนกินรังผึ้ง 48 และ 20 % ตามลำดับ

          ทำการเก็บข้อมูลสภาพอุณหภูมิของดินในแปลงหน่อไม่ฝรั่งลึกประมาณ 5 เซนติเมตร และอุณหภูมิใต้ทรงพุ่มของหน่อไม้ฝรั่งพบว่า อุณหภูมิใต้ทรงพุ่มของหน่อไม้ฝรั่งอยู่ระหว่าง 24 - 37 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิของดินในแปลงหน่อไม่ฝรั่งจะต่ำกว่าอุณหภูมิใต้ทรงพุ่มประมาณ 3 - 5 องศาเซลเซียส แต่อย่างไรก็ตามในปี 2551 ไม่พบการระบาดของหนอนกระทู้ผัก