การพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากใบมันสำปะหลังเพื่อเป็นอาหารสัตว์โดยเกษตรกรมีส่วนร่วม - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2551 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=26) +--- เรื่อง: การพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากใบมันสำปะหลังเพื่อเป็นอาหารสัตว์โดยเกษตรกรมีส่วนร่วม (/showthread.php?tid=1576) |
การพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากใบมันสำปะหลังเพื่อเป็นอาหารสัตว์โดยเกษตรกรมีส่วนร่วม - doa - 08-03-2016 การพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากใบมันสำปะหลังเพื่อเป็นอาหารสัตว์โดยเกษตรกรมีส่วนร่วม นิลุบล ทวีกุล, เพียงเพ็ญ ศรวัต, แฉล้ม มาศวรรณา, ศรีสุดา ทิพยรักษ์ และบุญช่วย สงฆนาม ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ขอนแก่น ทำการพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากใบ (รวมก้านใบและลำต้นสีเขียว) ของมันสำปะหลัง โดยศึกษาวิธีการลดปริมาณไซยาไนด์ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและการเก็บรักษา โดยยังคุณค่าทางโภชนาการเพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์ใช้เอง ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 - กันยายน 2551 โดยพัฒนาการทำแห้งและการหมัก ใช้พันธุ์ระยอง 72 CMR 42-42-14 CMR 41-11-129 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และพันธุ์อื่นๆ ทดสอบร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมและวัวเนื้อแล้วขยายผลในการพัฒนาการทำแห้ง ได้ศึกษาวิธีการเตรียมใบมัน วิธีการตาก และระยะเวลาตากต่อปริมาณไซยาไนด์ และคุณภาพใบมันตากแห้ง วิธีการเก็บรักษาใบมันแห้งและใบมันแห้งบด และการทำใบมันแห้งอัดฟ่อนสำหรับการทำหมัก ได้ทดลองการเตรียมใบมันและสารเสริมการหมักต่อคุณภาพใบมันหมัก และผลของภาชนะบรรจุต่อคุณภาพใบมันหมัก ผลการทดลองพบว่า ใบมันสำปะหลังสดที่นำมาทดลองมีปริมาณไซยาไนด์สูงถึง 600 - 700 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อตากแห้งหรือหมักตามกรรมวิธีที่ศึกษา มีความปลอดภัยจากสารพิษไซยาไนด์ วิธีการสับก่อนตากลดไซยาไนด์รวดเร็วกว่าวิธีการไม่สับ การสับทิ้งไว้ 1 คืน ลดไซยาไนด์ได้ 69 - 81 เปอร์เซ็นต์ ใบมันตากแห้งจากการสับและตากให้มีความชื้นต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 3 - 4 วัน มีคุณภาพดีทั้งสีและกลิ่น เมื่อบดจะได้ใบมันแห้งบดที่ลดความฟ่ามลง ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดเมื่อเก็บในถุงพลาสติกปิดสนิทสามารถเก็บรักษาได้นาน 7 เดือนแม้ผ่านฤดูฝน วิธีการที่เหมาะสมในการทำใบมันแห้งอัดฟ่อน คือ การทุบให้ส่วนลำมันแตกแล้วตาก 3 วัน (ความชื้น 23 - 29 เปอร์เซ็นต์) จึงอัดฟ่อน การทำใบมันหมักที่เหมาะสม คือ สับใบมันให้มีขนาดเล็ก 2 - 3 เซนติเมตร ผึ่งไว้ 1 คืน ผสมมันเส้น หรือกากน้ำตาลอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก หรือหัวมันสด 50 - 75 เปอร์เซ็นต์ หมักในภาชนะที่ไล่อากาศออกได้ง่ายและปิดได้สนิท เช่น ถุงพลาสติก ถังพลาสติกที่มีฝาปิดสนิททำให้ได้คุณภาพดีเยี่ยม ให้ปริมาณไซยาไนด์ในระดับปลอดภัย ≤ 25 - 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปริมาณโปรตีนไม่ลดลง และเก็บไว้ได้นาน 5 เดือน ผลการทดสอบพบว่า วัวนมและวัวเนื้อชอบใบมันหมักมากกว่าใบมันตากแห้งหรือตากแห้งบด แต่ไม่ชอบใบมันแห้งอัดฟ่อนต้นทุนการทำใบมันตากแห้ง 6.38 บาทต่อกิโลกรัม ใบมันตากแห้งบด 9.38 บาทต่อกิโลกรัม ใบมันหมัก 1.99 - 2.23 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมที่ทดสอบยอมรับและใช้ใบมันสำปะหลังเป็นอาหารเสริม เพื่อช่วยลดต้นทุนทั้งในรูปใบมันตากแห้งและหมักได้ 30 - 50 เปอร์เซ็นต์ มีการขยายผลการใช้ใบมันสำปะหลังเป็นอาหารวัวนมและวัวเนื้อ ในเกษตรกร 200 ราย ในปี 2549 – 2551 จำแนกกลุ่มเป้าหมายเพื่อเผยแพร่และขยายผลได้ 6 กลุ่ม
|