ทดสอบสารกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิในการฆ่าตอสับปะรด - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2554 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=4) +--- เรื่อง: ทดสอบสารกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิในการฆ่าตอสับปะรด (/showthread.php?tid=157) |
ทดสอบสารกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิในการฆ่าตอสับปะรด - doa - 10-30-2015 ทดสอบสารกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิในการฆ่าตอสับปะรด สิริชัย สาธุวิจารณ์ และวนิดา ธาลถวิล กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช การทดสอบสารกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าตอสับปะรด มีวัตถุประสงค์เพื่อหาสารกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าตอสับปะรด ดำเนินการทดลองระหว่างเดือนตุลาคม 2553 – กันยายน 2554 ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 2 แปลงทดลอง วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ มี 6 กรรมวิธี ได้แก่ การพ่นสารกำจัดวัชพืช triclopyr, fluroxypyr, glyphosate, glufosinate ammonium และ paraquat อัตรา 890, 920, 850, 640 และ 330 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ และกรรมวิธีไม่พ่นสารกำจัดวัชพืช ทำการตรวจวัดผลโดยการให้คะแนนความเป็นพิษของสารกำจัดวัชพืชต่อต้นตอสับปะรด ความเป็นพิษของสารกำจัดวัชพืชต่อเนื้อเยื่อภายในลำต้นสับปะรด และจำนวนหน่อที่งอกใหม่จากต้นตอสับปะรดรุ่นหลัง ผลการทดลองพบว่า การพ่นสารกำจัดวัชพืช paraquat อัตรา 890 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ สามารถทำให้ต้นตอสับปะรดแสดงอาการเป็นพิษรุนแรง แต่การพ่นสารกำจัดวัชพืช triclopyr มีประสิทธิภาพในการทำลายเนื้อเยื่อภายในลำต้นตอสับปะรดดีกว่า และจำนวนต้นตอสับปะรดที่งอกใหม่น้อยที่สุด สภาพของต้นตอสับปะรดมีผลต่อประสิทธิภาพการใช้สารกำจัดวัชพืช เพราะต้นสับปะรดที่สมบูรณ์จะมีพื้นที่รับสารกำจัดวัชพืชได้มาก ส่งผลให้สามารถดูดซึมสารกำจัดวัชพืชได้มากขึ้น
|