คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของข้าวฟ่างหวานในวันปลูกต่างๆ ในรอบปี - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2551 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=26)
+--- เรื่อง: ศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของข้าวฟ่างหวานในวันปลูกต่างๆ ในรอบปี (/showthread.php?tid=1561)



ศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของข้าวฟ่างหวานในวันปลูกต่างๆ ในรอบปี - doa - 08-03-2016

ศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของข้าวฟ่างหวานในวันปลูกต่างๆ ในรอบปี
ปรีชา กาเพ็ชร และทักษิณา ศันสยะวิชัย

          ข้าวฟ่างหวานเป็นอีกพืชหนึ่งที่มีศักยภาพสูงสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในระบบการผลิตเอทานอล จึงได้ศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของข้าวฟ่างหวานในสภาพการผลิตในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานสำหรับผลิตเอทานอลรองรับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวฟ่างหวานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินงานทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ปลูกข้าวฟ่างหวาน 5 พันธุ์ ได้แก่ Rio, Keller, Cowley, Wray และ Bj-281 จำนวน 11 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 เดือน เก็บข้อมูลการเจริญเติบโตทุกๆ 20 วัน ครั้งละ 15 ต้น เก็บผลผลิตในพื้นที่ 7.5 ตารางเมตร และสุ่มวัดเปอร์เซ็นต์บริกซ์จำนวน 10ต้น ที่อายุประมาณ 110-120 วัน ผลการทดลองที่สามารถเก็บผลผลิตได้ 9 ครั้ง พบว่า ข้าวฟ่างหวานทั้ง 5 พันธุ์มีการเจริญเติบโตแตกต่างกัน พันธุ์ Keller และ Wray มีอัตราการสะสมน้ำหนักแห้งและระยะเวลาสะสมน้ำหนักแห้งมากว่าพันธุ์อื่น ส่งผลให้มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์อื่น โดยผลผลิตของพันธุ์ Wray และ Keller เท่ากับ 6.43 และ 6.28 ตันต่อไร่ตามลำดับซึ่งทั้งสองพันธุ์ให้ค่าความหวานสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน(21.05 และ 20.97 องศาบริกซ์ตามลำดับ) และพบว่า ฤดูกาลปลูกมีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวฟ่างหวาน โดยการปลูกในช่วงเดือนธันวาคมให้ผลผลิตสูงที่สุด เท่ากับ 7.73 ตันต่อไร่ สูงกว่าวันปลูกอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนค่าความหวานจะสูงเมื่อปลูกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม เท่ากับ 20.94 และ 22.18 องศาบริกซ์ ตามลำดับ โดยรวมแล้วข้าวฟ่างหวานทั้ง 5 พันธุ์ ที่ศึกษามีการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมค่อนข้างสูง ไม่ทนต่อสภาพแห้งแล้ง และไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง แต่หากมีการจัดการที่ดี และมีน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูก ข้าวฟ่างหวานก็เป็นพืชที่มีศักยภาพสำหรับเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลที่สามารถปลูกได้ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ