คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ศึกษาผลกระทบของวัตถุมีพิษการเกษตรต่อสิ่งมีชีวิต ในแหล่งปลูกพริก : EPN - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2551 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=26)
+--- เรื่อง: ศึกษาผลกระทบของวัตถุมีพิษการเกษตรต่อสิ่งมีชีวิต ในแหล่งปลูกพริก : EPN (/showthread.php?tid=1514)



ศึกษาผลกระทบของวัตถุมีพิษการเกษตรต่อสิ่งมีชีวิต ในแหล่งปลูกพริก : EPN - doa - 08-03-2016

ศึกษาผลกระทบของวัตถุมีพิษการเกษตรต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งปลูกพริก : EPN
ผกาสินี คล้ายมาลา, ณัฐชยธร ขัตติยะพุฒิเมธ, วิภา ตั้งนิพนธ์ และศิวาภรณ์ สกุลเที่ยงตรง

          การศึกษาผลกระทบของวัตถุมีพิษการเกษตรต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งปลูกพริก : EPN อยู่ในโครงการวิจัยชุดการประเมินความเสี่ยงภัยจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตรที่ต้องเฝ้าระวัง ได้ศึกษาวิจัยในแปลงปลูกพริกของเกษตรกรที่ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ระหว่างเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2550 ถึงมีนาคม พ.ศ. 2551 ใช้สารพิษ EPN ในอัตรา 50 ml ต่อน้ำ 20 L ฉีดพ่นด้วยเครื่องยนต์ลากสายยาง โดยเกษตรกรฉีดพ่น EPN จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อพริกอายุ 60 วัน และครั้งที่ 2 เมื่อพริกอายุ 100 วัน ซึ่งเป็นระยะเริ่มเก็บเกี่ยว หลังการฉีดพ่นครั้งที่ 2 ได้เก็บตัวอย่างปลานิล หลังฉีดพ่น 1 ชั่วโมง (0 วัน), 1, 3, 5, 7, 10 และ 15 วัน นำมาตรวจวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างในเนื้อปลา และวัดระดับการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase Activity, AChE activity) ในสมองปลา รวมทั้งเก็บตัวอย่างพืชน้ำ ได้แก่ ผักบุ้ง หลังฉีดพ่น 1 ชั่วโมง (0 วัน), 1, 3, 5, 7, 10, 15 และ 20 วัน นำมาตรวจวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างเช่นกัน ในปลา เมื่อตรวจวัดระดับเอนไซม์พบว่าที่ 0 วัน และ 1 วัน ระดับ AChE Activity มีค่า 10.25 และ 7.45 unit หรือลดลง 59 และ 34 % ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปลาควบคุม (control) การลดลงของระดับ AChE Activity ในสมองปลา บ่งชี้ว่าปลาได้รับผลกระทบจาก EPN ที่ปนเปื้อนลงสู่ร่องน้ำ โดยหลังฉีดพ่น EPN 1 วัน มีปลาตายจำนวนมากทั้งปลาในกระชังและปลาธรรมชาติในร่องน้ำ ต่อมาระดับ AChE Activity 

          ในสมองปลาเริ่มฟื้นฟูจนถึงระดับดีขึ้น เมื่อผ่านไปแล้ว 7 - 15 วัน สำหรับปริมาณสารพิษตกค้างของ EPN ในเนื้อปลาควบคุมไม่พบสารพิษตกค้าง ส่วนปลาในร่องน้ำแปลงพริก พบในปริมาณ < 0.017 – 0.68 mg/kg โดยมีปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด 0.68 mg/kg หลังฉีดพ่น 1 วันและหลังฉีดพ่น 10 - 15 วัน ปริมาณที่พบต่ำกว่า LOQ (0.017 mg/kg) ในพืชน้ำ ได้แก่ ผักบุ้งควบคุม (control) ไม่พบสารพิษตกค้างของ EPN ส่วนผักบุ้งในร่องน้ำแปลงพริก พบปริมาณ < 0.025 – 6.97 mg/kg โดยพบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ 0 วัน หลังฉีดพ่น แต่หลังจากการฉีดพ่น 10 - 20 วัน ปริมาณที่พบจะต่ำกว่า LOQ (0.025mg/kg)