คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
แนวทางการป้องกันการติดเชื้อราโรครากขาวของยางพารา - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2551 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=26)
+--- เรื่อง: แนวทางการป้องกันการติดเชื้อราโรครากขาวของยางพารา (/showthread.php?tid=1502)



แนวทางการป้องกันการติดเชื้อราโรครากขาวของยางพารา - doa - 08-02-2016

แนวทางการป้องกันการติดเชื้อราโรครากขาวของยางพารา
อารมณ์ โรจน์สุจิตร และสายใจ สุชาติกูล
ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี

          การศึกษาแนวทางการป้องกันการติดเชื้อราโรครากขาวของยางพารา ดำเนินการในปีงบประมาณ 2550 (ตุลาคม 2549 - กันยายน 2550) ศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการและเรือนทดลองเพื่อหาแนวทางในการป้องกันการติดเชื้อโรครากของยางพาราด้วยวิธีการที่ง่าย สะดวกในการปฏิบัติและมีประสิทธิภาพ สำหรับนำไปพัฒนาใช้ในระดับแปลงปลูกต่อไป โดยทำการศึกษา 2 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาผลของแอมโมเนียมอะซิเตด (C2H7NO2) แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) แมกนีเซียมคาร์บอเนต (MgCO3) ซุปเปอร์ฟอสฟอริก (H3PO4) และกำมะถันต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราโรครากขาวในระดับห้องปฏิบัติการ และ 2) ทำการศึกษาศักยภาพในการป้องกันการติดเชื้อราโรครากขาวในระดับเรือนทดลอง โดยใช้ปุ๋ยที่มีสารประกอบใกล้เคียงกับสารที่มีศักยภาพในการป้องกันการเจริญของเชื้อรา R. lignosus จากการทดลองที่ 1 คือ ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยยูเรียและสารเสริมบางชนิดคือ ปุ๋ยร็อกฟอสเฟต กำมะถันผง (80 เปอร์เซ็นต์) และซิลิกอนผง ผลการทดลองสรุปได้ว่า ปูนขาวในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมคาร์บอเนต และผงซิลิกอน ไม่มีผลในการกำจัดและป้องกันโรครากขาว ส่วนปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต และกำมะถันในอัตราผสม 0.5 และ 1.0 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาตรมีศักยภาพในการยับยั้งกำจัดเชื้อรา และสามารถป้องกันการติดเชื้อโรครากขาวของรากยางเมื่อผสมกับดินปลูกได้ แต่ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต และกำมะถันความเข้มข้นสูงเป็นพิษต่อต้นยาง จึงสมควรศึกษาพัฒนาอัตราการใช้และวิธีการปลูกยางที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโรคของยางพาราและไม่เป็นพิษกับพืชปลูกใหม่ต่อไป